5 minute read

organic way

Organic Way

ต้นกล้าแห่งการเกื้อกูล

Advertisement

จากผู้คนที่ลงมือลงแรงปฏิบัติจริงต่างเห็นคำตอบและผลลัพธ์เดียวกันว่าเกษตรกร ในระบบธรรมชาติทำแล้วม่วน! ม่วนทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค พืช สัตว์ สิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งทั้งมวลล้วนเชื่อมโยง พึ่งพากันและกัน ไปสู่วิถีอันยั่งยืน

เกษตรกรไม่มีเกษียณ

ปลดโซ่เรื่องอายุ อาชีพ ฐานะ ความรู้ และเงื่อนไขต่างๆ กันเถิด ทุกคนสามารถลงมือปลูกผักทำฟาร์ม เริ่มต้นวิถีเกษตรกร ได้แบบไร้อายุปลอดเงื่อนไข

โชคชัย สารากิจ ในวัย 74 ปีนี้ คือผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้การพัฒนายั่งยืนภาคเหนือ (Northern Sustainable Development Learning Center) เขาเพิ่งได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556 นี้เอง มูลเหตุหลักมาจากการที่เขาให้คำแนะนำ สนับสนุนราชการและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเกษตรกรรมในระบบธรรมชาติเป็นเกษตรกรคนแรกที่เลี้ยง “หมูหลุม” โดยประยุกต์การเลี้ยงหมูแบบธรรมชาติมาจากสถาบันเกษตรธรรมชาติ เกาหลีใต้ เริ่มจากเก็บรวบรวมขยะไปใส่ในหลุม อาศัยกำลังหมูมาพลิกฟื้นปรับปรุงดิน เป็นการกำจัดขยะที่ย่อยสลาย ได้อาหารสัตว์ และช่วยผลิตปุ๋ยชีวภาพเอาไปใช้งานในสวนเพาะปลูก เขาเองก็ไม่ต่างจากคนทั่วไปตรงที่เป็นมนุษย์เงินเดือน ทำงานจนอายุ 60 ครั้นไม่ได้ต่ออายุเกษียณ หนี้สินยังมีอยู่ เขากลับเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส สร้างงานขึ้นมาด้วยน้ำมือและภูมิปัญญา บอกลาชีวิต คนเมืองที่ต้องขึ้นอยู่กับเงินทอง มาหาทรัพย์ในดินสินในน้ำกับชีวิตเกษตรกรที่ความมั่งคั่ง คือ อาหารการกินและสุขภาพที่ดี ทุกวันนี้ เขาและภรรยา พิกุล สารากิจ ผู้ซึ่งโชคชัยบอกว่าเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง และหัวใจหลักของไร่ อาศัยอยู่ในผืนดินขนาด 40 กว่าไร่ ในอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ร่วมกับหมู่ญาติที่มีพื้นที่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน แต่ละบ้านปลูกพืชผักและทำสภาพแวดล้อมเป็นเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบ มีการเลี้ยงวัว ไก่ เป็ด หมู และให้อาหารที่เป็นเกษตรอินทรีย์ เพื่อจะได้มูลสัตว์เป็นอินทรีย์ใช้เป็นปุ๋ยให้ผืนดิน ทำกระทั่งให้พื้นที่ทั้งหมดเป็นเขตปลอดบุหรี่ คนงานในไร่ต้องเข้าใจว่าสูบบุหรี่ไม่ได้เลย บรรดาใบไม้ใบหญ้าที่ร่วงหล่นก็ไม่เคยทิ้ง หากกวาดเศษใบไม้ไปกองรวมกันเก็บไว้ทำปุ๋ยได้ เพราะทุกสิ่งมีคุณค่าในตัวของมัน

พิกุล สารากิจ - โชคชัย สารากิจ

พงษ์ศักดิ์ โฆษิตกุล เป็นนายธนาคารมาตลอดชีวิต ขณะที่ภรรยา อรทัย โฆษิตกุล ก็มีหน้าที่การงานที่ดี แต่งตัวสวยงาม นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ แต่ด้วยปัญหาสุขภาพทั้งสองทิ้งเมืองมาอยู่ไร่ที่เวียงป่าเป้าตามคำแนะนำจากญาติสนิทเช่นโชคชัย สารากิจ ซึ่งช่วยให้พวกเขากลายเป็นคนสวน ตื่นเช้ามาใส่รองเท้าบู๊ตออกไปรดน้ำอย่างกระฉับกระเฉงฉายแววเปี่ยมสุขล้นเหลือ ในเช้าของวันเก็บผักซึ่งทำสัปดาห์ละครั้ง พงษ์ศักดิ์ก้มๆ เงยๆ ตัดผักสลัดด้วยกรรไกรไปทีละแปลงๆ จนเต็มตะกร้าแล้วก็ยกไปให้อรทัยทำการบรรจุลงกล่องโฟมเพื่อรอเขาขับรถออกไปส่งในช่วงบ่าย มีการแยกใบที่ไม่ค่อยสวยนักใส่ตะกร้าไว้ให้วัวกิน ส่วนหนึ่งบรรจุใส่ถุงตามออร์เดอร์ที่หลานสาว กรรณิกา เพชรแก้ว สั่งไว้จากฐานลูกค้าของเธอในหน้าเฟซบุ๊ค Granny go Organic ซึ่งจัดส่งผักและผักสลัดออร์แกนิกถึงหน้าประตูบ้านคนเมืองเชียงใหม่ มีทั้งสลัด (กล่องละ 60 บาท) เมี่ยงปลาทู (ชุดละ 90 บาท) ผักสด (กิโลกรัมละ 90 บาท) ไข่ไก่ออร์แกนิก (ชุดละ 60 บาท 10 ฟอง) ที่สวนติดกันของเธอเพิ่งลงต้นกล้ากาแฟหลายสิบต้น สวนข้างๆ มีมะนาวไลม์ออกผลดกดี และสวนของพงษ์ศักดิ์และอรทัยยังทำบ้านพักแบบโฮมสเตย์สำหรับผู้สนใจมาเรียนรู้สวนเกษตรอินทรีย์และได้ลงมือตัดผักมารับประทานสดๆ ในมื้อเช้าด้วยตัวเอง

ก่อนหน้านี้ กรรณิกาตรวจร่างกายแล้วพบว่ามีสารพิษตกค้างในตัว เธอจึงหันมาบริโภคอาหารออร์แกนิกซึ่งส่งผลกับร่างกายที่สดชื่นขึ้นทันตา วิถีเกษตรอินทรีย์เป็นเช่นนี้เอง เมื่อได้ทดลองกับตัวแล้ว ก็อยากเผื่อแผ่ชักชวนสิ่งดีๆ สุขภาพที่ดีให้คนรอบข้าง จึงลุกขึ้นมาจัดส่งผักเกษตรอินทรีย์ตรงจากไร่ที่เวียงป่าเป้าถึงหน้าประตูบ้านคนเชียงใหม่ เธอโดนตั้งคำถามว่าขับรถเก๋งส่งผักไม่กี่สิบบาทจะคุ้มอะไรกัน เธอบอกว่า “ถ้าจะพูดให้เท่ มันก็คืออุดมการณ์ ต้องยอมรับว่าเรามีปัจจัยบวกเยอะ ไม่ได้เดือดร้อนขนาดที่ขายไม่ได้ จะทำอย่างไร แต่เราเองไม่ได้มีอุดมการณ์สูงส่งอะไร เราได้รับมาเยอะแล้ว ก็อยากทำสิ่งดีๆ ให้กับโลกบ้าง ลูกค้าก็เป็นชนชั้นกลาง มีกำลังซื้อ แต่เราไม่เอาผักเราขึ้นห้าง เพื่อจะได้ขายในราคาไม่ผ่านคนกลาง เราอยากให้ราคาผักออร์แกนิกถูกลงกว่านี้ อันที่จริงสามารถทำได้ ถ้าเราผลิตได้มาก ถ้าราคาใกล้เคียงกับผักเคมี คนก็มาซื้อผักไร้สารเคมีกินดีกว่า เรามีเป้าหมายอยากให้คนทั่วไปเข้าถึงผักออร์แกนิกได้ อยากทำโครงการกับโรงเรียน เอาผักออร์แกนิกไปทำอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียนกิน เพราะนี่คือการสร้างรากฐานของสังคม

วันเก็บผัก

“อีกอย่างคืออยากให้คนรู้ถึงความแตกต่างของผักออร์แกนิกกับผักปลอดสาร บริษัทผู้ผลิตใหญ่ๆ บอกว่า ใส่ปุ๋ยแล้วทิ้งไว้ 7 วัน ถึงเก็บได้ นั่นคือผักปลอดสารพิษ แต่ก็ยังใช้ปุ๋ยเคมีอยู่ดี ในขณะที่การทำเกษตรอินทรีย์อาศัยเพียงสิ่งแวดล้อม พืช สัตว์ ไม่ต้องพึ่งปุ๋ยเคมี เพราะหนี้ของเกษตรกรทุกวันนี้คือค่ายาฆ่าแมลง ค่าปุ๋ย ขายผลผลิตได้ก็เอาไปซื้อยาฆ่าแมลง ซื้อปุ๋ยหมด เงินไม่พอก็ต้องกู้หนี้ยืมสิน แต่ถ้าเราไม่ใช้ปุ๋ยไม่ใช้ยา ก็ปลดหนี้ได้ เกษตรกรเองก็ไม่ต้องอยู่กับสารเคมีรอบตัว แต่เกษตรกรต้องอดทน เชื่อมั่นกับแนวทางนี้ ทำเกษตรธรรมชาตินี่สนุกด้วยซ้ำ เพราะได้เรียนรู้การทำงานไปด้วย แก้ปัญหาไป เรียนรู้ไป ถ้ามีแมลงมาลง เกษตรเคมีก็พ่นสารเคมี ไม่ต้องคิดอะไรแล้ว ทุกอย่างมีสูตรสำเร็จให้แก้ ด้วยสารนั้นยานี้ ดอกไม่มีเอาอันนี้ไปใช้ ผลไม่มีก็ใช้สารอันนี้ แต่เกษตรอินทรีย์ต้องควบคุม เอาสมุนไพรมาไล่แมลง ต้องหาวิธีจัดการ ต้องแก้ปัญหา อาจยุ่งยากหน่อย แต่มีวิธีทำ มีทางแก้ปัญหาทั้งนั้น ยิ่งคนที่ทำเกษตรมาอยู่แล้ว ปรับเป็นเกษตรอินทรีย์ยิ่งง่าย เพราะพอรู้จักธรรมชาติ รู้จักฤดูกาล ขนาดน้าพงษ์ศักดิ์ที่เป็นนายแบงก์ มาใหม่ๆ ยังไดรฟ์กอล์ฟอยู่ เลย เขายังปรับตัวได้ คนแก่ก็ทำได้ ได้ออกกำลังแข็งแรงขึ้นด้วย”

โชคชัยเสริมถึงสิ่งที่เขาให้ความรู้แก่ผู้ที่มาศูนย์เรียนรู้การพัฒนายั่งยืนภาคเหนือด้วยกิจกรรมและเนื้อหาให้ซึมซับกระบวนการ ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวิธีคิด มุมมอง สิ่งที่เห็นจะบูรณาการเข้าไป เขาให้ปรัชญาและแนวคิดที่มนุษย์ต้องการความสุขว่า เงินทองให้ความสุขเพียงชั่วคราว ไม่ยั่งยืน ความสุขต้องเกิดจากภายใน เป็นความสุขเฉพาะตัว อย่างปลูกกล้วยไม้ พอออกดอก คนปลูกก็ชื่นใจ การเป็นชาวสวนเป็นความสุขยั่งยืน ร่ำรวยด้วยอาหารการกิน แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือการเริ่มต้น ต้องมีใจ มีแรงขับเคลื่อน หากได้หยุดคิด ไตร่ตรอง เหลียวมองไปรอบๆ ตัว ก็จะพบหนทางที่ไม่ยากเกินกำลัง เพียงแค่เริ่มจากสิ่งเล็กๆ สิ่งที่เรามีอยู่ จัดการกับสิ่งเหล่านั้น แล้วขยายผลต่อไป อย่างชาวบ้านบอกว่าเขาจน ไม่มีเงิน โชคชัยบอกว่าคุณมีที่ดิน คุณก็หาพืชหาผักมาปลูกลงดิน หรือคุณเดินออกไปตามถนน ก็มีผักสองข้างทางให้เก็บกินได้แล้ว ถ้าอยู่ในเมือง คุณไม่มีเงิน คือไม่มีกิน แต่อยู่ในไร่ ในชนบท มีผักกินก็ร่ำรวย คุณมีที่ดิน 5 ไร่ ลองทำสัก 1 งานก่อน พอได้ผล คุณเกิดความเชื่อมั่นก็ขยายต่อเอง ยึด หลักง่ายๆ ว่าปัจจัยของการทำเกษตรอยู่ที่การเอื้อประโยชน์ต่อกันของคน พืช สัตว์ และสภาพแวดล้อม ในเกษตรธรรมชาติ เราให้พืช สัตว์ ทำงานด้วยกันกับเกษตรกร คนกินอะไร สัตว์ก็กินอย่างนั้น ช่วยกันดูแลรักษาและจัดการด้วยกัน

โชคชัยยกตัวอย่างเกษตรกรคนหนึ่งจากแม่แตง เขาเป็นช่างเครื่องยนต์ พอสาธารณสุขมาตรวจสารพิษตกค้าง ปรากฏว่าเขามีสารพิษตกค้างมากที่สุดในตำบล เขาเลยหันมาปลูกผักกินเองในครอบครัว ผลผลิตมากเข้าก็เอาไปขาย เลิกอาชีพช่างไปเลย พอตรวจสารพิษตกค้างอีกครั้งก็หายไปแล้ว เขาเคยมาอบรมดูงานกับโชคชัยสองสามครั้ง แล้วกลับไปทำ ตอนนี้สวนของเขาเป็นที่ดูงานไปแล้ว นี่คือตัวอย่างของคนที่ไม่มีความรู้เรื่องสวนเลย แต่สามารถทำได้ สำหรับมือใหม่อยากทำเกษตรธรรมชาติ รับคำแนะนำนิดหน่อย มองหาสิ่งที่เหมาะสมกับคุณ เริ่มจากสิ่งที่คุณมีนำไปประยุกต์ เรียนรู้ด้วยตัวเอง ชีวิตก็งามสง่าได้

* Granny goOrganic โทรศัพท์ 08-1716-4007 Facebook Page ค้นหาคำว่า Granny go Organic และสามารถโทรศัพท์สอบถามบ้านพักโฮมสเตย์ของพงษ์ศักดิ์ และอรทัย โฆษิตกุล ได้ด้วย

* ศูนย์เรียนรู้การพัฒนายั่งยืนภาคเหนือ - 17 หมู่ 15 ดำบลป่างิ้ว อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย 57170 โทรศัพท์ 08-1386-3743 Northern Sustainable Development Learning Center - 17 Moo15, Tambol Pangiew, Amphoe Wiangpapao, Chiangrai 57170 Tel: +66-8-1386-3743

Organic D.I.Y. กิจกรรมทำได้เอง

คำแนะนำที่จริงใจและเป็นจริงที่สุด จากกานต์ ฤทธิ์ขจร เกษตรกรไร่ปลูกรัก (Thai Organic Food) ฟาร์มเกษตรอินทรีย์จังหวัดราชบุรีต่อข้อถามที่ว่า จะเริ่มต้นชีวิตเกษตรอินทรีย์ได้อย่างไร คือ “ปลูกเลยครับ!”

กานต์แนะนำว่า เพียงแค่มีความคิดก็ทำเลย อย่าคิดมาก ไปซื้อเมล็ดมาปลูกเลย เอาผักที่เราชอบกิน ผักทั่วๆ ไป อย่างคะน้า ผักบุ้ง โหระพา ตะไคร้ก็ได้ คือถ้าคิดว่าต้องมีหลักการ ไปเข้าอบรมก่อน ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ทำ แต่ถ้าได้ปลูก มีความกล้าที่จะลอง จะค่อยๆ เรียนรู้ ลองผิดลองถูก จากนั้นก็จะต่อยอดไปเอง เข้าอบรม หาความรู้เพิ่มเติมต่อๆ ไป การปลูกผักเป็นวิถีคนไทยมานาน ไม่ได้สั่งสอนกันมา แต่เราปลูกกันตามรั้ว เราเกิดมาก็เห็นผักตามรั้วบ้านแล้ว พอยุคสมัยเปลี่ยน รั้วบ้านเป็นคอนกรีตไปหมด ก็ไม่มีสวนครัวรั้วกินได้อีกแล้ว แต่เราสามารถทำขึ้นเองได้ เอาเมล็ดมาลง รดน้ำ พรวนดิน ไม่นานก็ออกดอกออกผล ส่วนการปลูกผักแนวทางเกษตรอินทรีย์โดยไม่ใช้สารเคมี ต้องเข้าใจธรรมชาติ การอยู่ร่วมกันพึ่งพาอาศัยกันของพืช สัตว์ สิ่งแวดล้อม เช่น จะทำอย่างไรให้พื้นที่ที่ปลูกมีโครงสร้างย่อยสลาย มีจุลินทรีย์ เชื้อรา แบคทีเรียดีๆ มีสภาวะการอุ้มน้ำ มีไส้เดือนดูดกิน พืชมีสภาพแวดล้อมที่ดีด้านอากาศ เราสามารถปลูกพืชหมุนเวียนตามฤดูกาล ปลูกดอกไม้ ทำบ้านนก นกมาช่วยกินหนอน แมลงมาดูดเกสรดอกไม้มาช่วยปรับสมดุลในธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เรียนรู้และทดลองทำได้

การได้เข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อม เดินดูบรรยากาศภายในไร่ ยิ่งสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดอย่างยิ่งยวด ทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน ไร่ปลูกรักจัดกิจกรรมประจำเดือน Organic Family Day เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าไปเรียนรู้ทำกิจกรรมต่างๆ ในไร่ปลูกรัก ซึ่งเป็นการใช้เวลาหนึ่งวันอย่างคุ้มค่า ผู้ร่วมงานประมาณหนึ่งร้อยคนได้ร่วมกันทำกิจกรรมอย่างเช่นนำไข่เป็ดมาทำไข่เค็มออร์แกนิก ไอศกรีมโฮมเมด น้ำสลัดสูตรสมุนไพรที่รับประทานกับผักสลัดสดๆ ของไร่ ฟังนิทานและดนตรีอะคูสติก ทำของเล่นและงานศิลปะจากธรรมชาติ ฯลฯ มีการจัดเทศกาลประจำปีหนึ่งครั้ง ในชื่องาน Organic Boutique Festival (ราวเดือนมกราคม ในอนาคตอาจเพิ่มจากหนึ่งวันเป็นสองวัน) ซึ่งมีเนื้อหาและกิจกรรมแตกต่างและหลากหลายขึ้น รองรับผู้ร่วมงานได้มากราว 600-700 คน มีการสร้างฐานกิจกรรมให้ผู้มาร่วมงาน เลือกเข้าฐานได้ตามอัธยาศัยเพื่อกระจายคนไปรอบๆ พื้นที่ ทั้งนี้ก็เพื่อส่งผ่านไอเดียและโครงสร้างของการปลูกผักทำไร่ ในการเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน ซึ่งคนเราปกติตื่นเช้ามา อาบน้ำ กินข้าว ไปทำงาน เรียนหนังสือ กลับบ้านมาตอนเย็น แทนที่จะไปห้างสรรพสินค้า ก็มาทำกิจกรรมด้วยกันภายในบ้าน เพราะหน่วยย่อยแต่สำคัญที่สุดของสังคมคือครอบครัว เริ่มจากที่บ้านทำกิจกรรมดูแลสุขภาพ ทำอาหารกินกันเอง คัดสรรของเล่นธรรมชาติ เล่านิทานสร้างสรรค์ให้กันฟัง รดน้ำ พรวนดิน สิ่งที่เห็นเด่นชัดคือสัมพันธภาพที่ดีภายในครอบครัว ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงวิถีออร์แกนิกอย่างชัดเจน เมื่อเพิ่มความเป็นออร์แกนิกเข้าไปอย่างการใช้วัตถุดิบไม่มีสารเคมี สิ่งแวดล้อมก็ไม่โดนทำลาย สุขภาพก็แข็งแรงเห็นๆ

กิจกรรมจากเทศกาลไร่ปลูกรักครั้งที่ผ่านมา อาทิ ฟังนิทานจากครูชีวัน ฟังดนตรีอะคูสติกจากพี่ปั่น - ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว การทำน้ำสลัด ตุ๊กตาฟาง ปุ๋ยน้ำชา ลงกล้านาโยน ไข่เค็มออร์แกนิก ซึ่งการได้เอามือคลุกแกลบห่อหุ้มไข่เป็ด แล้วทิ้งไว้สิบห้าวันให้กลายเป็นไข่เค็ม (อร่อยด้วยสิ) จับหญ้าแห้งมาปั้นๆ ให้เป็นตัวตุ๊กตา หยิบต้นกล้าข้าวโยนไปในท้องนา เพาะต้นกล้ากระเจี๊ยบโดยการใส่ดินในห่อใบตองแล้วประคบประหงมกลับมาลงดินที่บ้าน ล้วนเป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้ติดตัว และเสริมแรงกระตุ้นให้กลับมาทำต่อเองที่บ้าน บางอย่างอาจจนด้วยเกล้ากับวัสดุที่คนเมืองตามหาได้ยากสักหน่อย เช่น การทำตุ๊กตาฟาง ซึ่งต้องใช้หญ้าแห้ง และต้องอาศัยการฝึกฝนและความอดทนในการปั้นหญ้า ให้เป็นตัว

การทำปุ๋ยน้ำชา ใช้มูลค้างคาว 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร และปุ๋ยหมักสูตรไร่ปลูกรัก ที่มีส่วนประกอบคือ รำหยาบ รำละเอียด แกลบดำ มูลวัว หมักไว้กับน้ำหมักชีวภาพ 14 วัน จึงนำมาทำปุ๋ยน้ำชา โดยสูตรเร่งด่วนบำรุงทางใบ นำปุ๋ยน้ำชามาห่อในผ้าขาวเป็นลูกตุ้ม 1 ตุ้มต่อน้ำ 5 แก้ว หมักไว้หนึ่งคืน นำน้ำไปฉีดพ่นทางใบตอนเช้า ตุ้มที่เหลือหมักในน้ำใหม่ไว้ใช้ได้อีก 6 รอบ

การทำน้ำปลาออร์แกนิก ซึ่งมีวิธีการที่เริ่มจากลูกปลาไม่เป็นหมันจากการดัดแปลงเพศ เลี้ยงด้วยอาหารออร์แกนิกจนปลามีอายุ 1 ปี จึงนำปลากับเกลือไปหมักในโอ่ง 18 เดือน ได้เป็นน้ำปลามาตรฐาน IFOAM & EU ผู้ร่วมงานต่างได้น้ำปลาออร์แกนิกกลับบ้านคนละขวดเล็ก นำมาเหยาะมาปรุงอาหารแล้วหอมอร่อยเชียว

แต่การทำน้ำสลัดและไข่เค็มด้วยตัวเองก็พอจะหาวัตถุดิบได้ไม่ยาก น้ำ/สลัดเพสโต้สูตรอโณทัย ก้องวัฒนา เจ้าของร้านอาหาร “อโณทัย” (ซอยโรงพยาบาลพระราม 9 ใกล้สี่แยก อสมท. กรุงเทพฯ) ใช้ใบโหระพา 30 กรัม เกลือ ¼ ช้อนชา น้ำมันมะกอก ½ ถ้วยตวง อัลมอนด์อบ ¼ ถ้วยตวง ชีสพาร์เมซาน 1-2 ช้อนโต๊ะ นำไปบดพร้อมกัน สำเร็จออกมานำไปใส่สลัด หรือทาเป็นสเปรดขนมปังได้รสเลอเลิศมาก

ไข่เค็มออร์แกนิกใช้น้ำหนึ่งแก้ว ผสมแกลบและเกลือ แล้วนำไปหุ้มไข่เป็ด วางในที่อากาศถ่ายเท เป็นเวลา 15 วัน (หากทำไข่ดาว ทิ้งไว้ได้ถึง 30 วัน) โดยแกลบดำนั้นมาจากเปลือกข้าว หาซื้อได้จากโรงสี ที่เชียงใหม่ยังพอมีโรงสีเก่า ที่มีปล่องไฟอยู่บ้าง เรียกว่ามอบไอเดีย ส่งต่อความคิดในวิถีเกษตรอินทรีย์ให้แล้ว จากนี้ก็อยู่ที่แต่ละคนนำไปปรับใช้ เข้ากับชีวิตประจำวันของตน และที่สำคัญคือ “ลงมือทำ”

* ไร่ปลูกรัก - 130 หมู่ 1 ถนนเพชรเกษม (กิโลเมตรที่ 78) ตำบลวังเย็น อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี โทรศัพท์ 086-3327-365 เว็บไซต์ www.thaiorganicfood.com

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ที่สนใจซื้อพืชผักอินทรีย์สดใหม่ สามารถเลือกซื้อได้ที่บ้านขวัญเคียงดาว ต.บ้านปง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ โทร 09-0910-0010, 08-6728-4142 หรือติดต่อสอบถามที่เฟซบุ๊ค bannkwunkiangdao ส่วนผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก และผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ไร้สารพิษอื่นๆ ยังสามารถเลือกซื้อได้ที่ Urban Green Organic โครงการ @Curve Education Mall เชียงใหม่ โทร. 08-9700-3366, 0-5310-5736 และที่เฟซบุ๊ค urbangreenorganic

ปันพันธุ์ พันพรรณ

โจน จันใด มีสวนเกษตรอินทรีย์เล็กๆ ชื่อว่า “พันพรรณ” ที่อำเภอแม่แตง ปลูกผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์ มีนาข้าว และสร้างบ้านดิน ที่อยู่อาศัยที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ที่เข้าได้กับทุกสภาพอากาศและภูมิประเทศ เขามีปรัชญาการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย พึ่งพาตนเองให้มากที่สุด และดำรงวิถีเช่นนี้มาสิบกว่าปี จนความคิดของเขาได้แผ่ขยายก่อร่างเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้และอยู่ร่วมกัน ที่ต่อยอดมา เป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ (Pun Pun – Center for Self Reliance) แต่ละเดือน มีคนหลากหลายเข้ามาอบรมดูงาน บ้างลงคอร์สพึ่งตนเอง หลายคนต้องการเปลี่ยนแปลงชีวิตจากความยุ่งยากสู่ความเรียบง่าย บ้างมาเป็นอาสาสมัครอยู่กันเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน รายปี เพื่อใช้ชีวิต เรียนรู ้การสร้างบ้านดิน ดูแลตัวเองด้วยวิถีธรรมชาติ ทำเกษตรแบบไร้สารเคมี ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำจุลินทรีย์ ทำของใช้จำเป็นจำพวกสบู่ แชมพู น้ำยาล้างจานจากผลผลิตธรรมชาติ และการอยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือกันคนละไม้ละมือ ไม่มีใครมีหน้าที่ประจำ ทุกคนมีหน้าที่เหมือนกันหมดคือทำงานที่อยู่ตรงหน้า

แต่สถานการณ์วิกฤติอาหารโลกที่ควบคุมโดยบริษัทใหญ่เพียงไม่กี่ราย และระบบตลาดสมัยใหม่ ที่ครอบงำวิถีการปลูกของเกษตรกร ทำให้เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านร่อยหรอลงเรื่อยๆ โจนจึงมุ่งมั่นเก็บและรักษาพืชพันธุ์พื้นบ้านไม่ให้สูญหายไป เพราะมองไปที่ตลาดทุกวันนี้ คนปลูกกับคนกินแบ่งแยกจากกัน คนปลูกไม่ได้สนใจว่าคนกินเป็นอย่างไร คนกินเองก็ไม่ได้สนใจว่าปลูกอย่างไร เมล็ดพันธุ์ถูกพัฒนามาป้อนตลาด ขายพันธุ์ที่สะดวกต่อการขาย ไม่ได้ขายพันธุ์ที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของชีวิต เมล็ดพันธุ์จากพ่อค้านั้นให้ผลรวดเร็ว หน้าตาสวยงาม หากรสชาติจืดก็ใส่ปุ๋ยหวานเพิ่มรสชาติเข้าไปได้ แต่มันเป็นรสชาติที่จืดชืดที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยกินมา อย่างไก่บ้านกับไก่เลี้ยง ไก่บ้านแพงกว่าแต่คนก็ยังกิน เพราะไก่เลี้ยงรสชาติจืดชืด เราจึงเห็นผักไม่กี่อย่าง ปลาไม่กี่สายพันธุ์ ไก่และหมูพันธุ์เดียว ข้าวจากเดิมมีอยู่ 2-3 หมื่นสายพันธุ์ เดี๋ยวนี้มีแค่ 2-3 ร้อยสายพันธุ์ อันที่จริงแต่ละฤดูกาลคนกินพืชผักหลายชนิดมาก คนเหนือมีผักให้กิน 20-30 สายพันธุ์ในแต่ละฤดู มีผักที่รสชาติดี อร่อยๆ กว่านี้มากมาย แต่ตลาดไม่เอา มาขาย ความหลากหลายในการกินของเราจึงน้อยลง อาหารน้อยลง ความมั่นคงของชีวิตคน สัตว์ พืช น้อยลง เพราะเราอยู่ได้ด้วยความหลากหลายทางพันธุกรรม ซึ่งล้วนส่งผลต่อสุขภาพเสื่อมลง เผชิญโรคภัยทั้งมะเร็ง ภูมิแพ้ โดยเฉพาะสายพันธุ์จีเอ็มโอ (GMOs -Genetically Modified Organisms สิ่งมีชีวิตที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ) ที่ทำให้คนมีอาการแพ้กันมาก แต่ไม่รู้สาเหตุ และไม่มีทางเลือกในการบริโภค คนรวยคนจนกินเหมือนกันหมดเพราะตลาดมีอยู่ไม่กี่สายพันธุ์ อีกทั้งเมื่อเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านหายไป ราคาเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นก็แพงขึ้น มะละกอกิโลกรัมละหมื่นกว่าบาท มะระจีนเม็ดละ 2-3 บาท ผักสลัดกิโลกรัมละ 2-3 หมื่นบาท ทำให้เกษตรกรต้องเป็นหนี้ เพราะลงทุนสูง แต่ขายได้ราคาต่ำ ในขณะที่การพัฒนาสายพันธุ์ก็ทำให้เป็นพันธุ์ที่ชอบสารเคมี เพราะปลูกแล้วโตเร็ว ต้องใส่ปุ๋ยถึงจะงอกงาม เกษตรกรจึงต้องเสียค่าปุ๋ยให้บริษัทอีก พันธุ์ที่มีอยู่ทั่วไปก็เป็นพันธุ์ผสม เอาไปปลูกไม่ได้ ปลูกแล้วไม่ขึ้นไม่งอกงาม

ผักกระถิน ผักติ้ว ผักเสม็ด เซียงดา ผักกูด ผักหนาม เป็นพืชพรรณพื้นบ้านที่สายพันธุ์ไม่หาย แต่พันธุ์ที่ไม่ใช่ผักพื้นเมือง เช่น คะน้า พริก มะละกอ ผักกาด บวบ นั้นมาจากที่อื่นแต่คนนิยมกิน พันธุ์แท้ก็จะหายเพราะบริษัทใหญ่มุ่งพัฒนาสายพันธุ์เหล่านี้มากขึ้น ดูง่ายๆ คือคนกินผักคะน้ามากกว่า ผักกระถิน เขาก็ส่งเสริมให้คนปลูกคะน้ากันมาก พันธุ์แท้พันธุ์พื้นบ้านก็ปลูกน้อยลง โจนจึงเดินทางไปที่ต่างๆ ในรอบสิบปีที่ผ่านมา เพื่อเสาะแสวงหาพันธุ์พื้นเมือง และพืชผักสายพันธุ์แท้ บางครั้งได้รับแจกจ่ายมาจากการเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ บางทีก็ซื้อมาบ้าง ขณะนี้มีสายพันธุ์พื้นบ้านอยู่ราว 300 สายพันธุ์ ซึ่งเมื่อได้พันธุ์มาแล้วก็เอามาปลูกกินดูก่อน พอรู้ว่าไม่กลายพันธุ์ ปลูกแล้วให้ผลเหมือนเดิม เป็นพันธุ์แท้แล้ว ก็ปลูกต่ออีกรอบ แล้วค่อยแจกจ่าย โดยให้ผู้สนใจส่งจดหมายใส่ซองแนบแสตมป์จ่าหน้าถึงตัวเอง พร้อมบอกเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการจากรายชื่อเมล็ดพันธุ์ที่แจ้งไว้ในเว็บไซต์ของพันพรรณ ซึ่งในแต่ละเดือน มีคนส่งจดหมายมาขอเมล็ดพันธุ์เป็นพันๆ ฉบับ จนบางทีส่งให้ไม่ทัน บางช่วงต้องรอเป็นเดือนก็มี ส่วนใหญ่คนที่ขอเมล็ดพันธุ์เป็นคนเมืองที่อยากปลูกผักกินเอง บางคนลาออกจากงานมาปลูกผัก เขาเองไม่ได้ให้เมล็ดพันธุ์ไปคราวละมากๆ เพราะต้องการให้คนเอาไปปลูกกินเอง ไม่ได้ทำการค้า ไม่ให้ไปปลูกขายเสร็จแล้วมาขอใหม่อย่างนี้ถือว่ากินแรง แต่อยากให้ปลูกกินแล้วขยายพันธุ์ต่อเอง เพื่อให้พันธุ์กระจายออกไป ไม่กระจุกกับคนกลุ่มเดียว เมล็ดพันธุ์ที่คนขอมักเป็นจำพวกพืชสวนครัว ผักสลัด คนที่ขอก็เห็นคุณค่า อยากปลูกกิน ปลูกเก็บ คิดถึงปัญหาสุขภาพ และเป็นกระแสสังคม ที่คนคิดถึงความมั่นคงทางสุขภาพมากขึ้น

เมื่อความคิดของการเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านได้กระจายออกไป COMPASS จึงขอเป็นส่วนหนึ่ง ในการเชิญชวนให้ชาวเชียงใหม่ได้มีส่วนร่วมในการเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ด้วยการปลูกเมล็ดพันธุ์ ที่สวนพันพรรณแบ่งปันมาให้ 5 พันธุ์ คือ “กระเจี๊ยบแดง” ซึ่งปลูกง่าย มีเนื้อหนาเนื้อเยอะ ผลเอาไป แช่อิ่ม ทำแยม ทำไวน์ ทำน้ำกระเจี๊ยบ เลือกลูกที่แก่หน่อย ก่อนจะเอาไปต้มทำน้ำ ให้เอาเมล็ดออกมาปลูกต่อได้, “พริกขาว” เป็นพันธุ์ที่คนอีสานชอบกิน มีกลิ่นหอม เผ็ดปานกลาง, “ผักชีลาว” เอาไปกินสดๆ กับแกงอ่อม กินกับสเต๊ก หรืออาหารฝรั่งได้หลายอย่าง, “ผักกาดแม้ว” มีรสชาติเหมือนวาซาบิ หากปลูกในดินดี จะได้ต้นใหญ่สูงเกือบเมตร ใบกว้างเกือบฟุต เอาไปทำแกงจับฉ่ายอร่อยนัก และ “ผักสลัดเรนดิกลาส” (Reine des Glaces) ซึ่งเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับไปนั้น สามารถเก็บไว้ได้เป็นปี ยิ่งเก็บไว้ในตู้เย็นจะได้นานถึง 4-5 ปี ถ้าไว้ในช่องแช่แข็งอยู่ได้เป็นสิบปี คนปลูกเองก็ควรเข้าใจด้วย เช่น ซื้อเมล็ดผักมาเป็นขวด แบ่งมาปลูกแล้ว ก็วางขวดไว้อย่างนั้น ถ้ารู้จักเก็บใส่ถุงดีๆ เอาเข้าตู้เย็น ก็สามารถเก็บได้นานเป็นปีๆ เลยทีเดียว

*พันพรรณ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง และ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ ตู้ ปณ. 5 อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ 50150 เว็บไซต์ www.punpunthailand.org และเฟซบุ๊คแฟนเพจ Pun Pun Organic Farm

Organic Rice, Moral Rice ข้าวอินทรีย์ ข้าวคุณธรรม

คนกินข้าวมากหลาย หันมากินข้าวอินทรีย์ ข้าวกล้อง ข้าวพันธุ์พื้นบ้านมากขึ้นด้วยเหตุผลทางสุขภาพ และทางเลือกของคุณค่า รสชาติที่ข้าวแต่ละชนิดมอบให้

สถาบันวิจัยข้าวอินทรีย์ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้หลักการผลิตข้าวอินทรีย์ (Organic rice) ว่าเป็นข้าวที่ได้จากการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ (Organic agriculture หรือ Organic Farming) ซึ่งเป็นวิธีการผลิต ที่หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี หรือสารสังเคราะห์ต่างๆ เป็นต้นว่า ปุ๋ยเคมี สารควบคุมการเจริญเติบโต สารควบคุมและกำจัดวัชพืช สารป้องกันกำจัดโรคแมลงและสัตว์ศัตรูข้าวในทุกขั้นตอนการผลิตและในระหว่างการเก็บรักษาผลผลิต หากมีความจำเป็น แนะนำให้ใช้วัสดุจากธรรมชาติและสารสกัดจากพืชที่ไม่มีพิษต่อคน หรือไม่มีสารพิษตกค้างปนเปื้อนในผลิตผลในดินและน้ำ ขณะเดียวกันก็เน้นเรื่องธรรมชาติ คืออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของ ธรรมชาติ รักษาสมดุลธรรมชาติ และใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ เพื่อการผลิตอย่างยั่งยืน เช่น ปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยการปลูกพืชหมุนเวียน ใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ในไร่นาหรือจากแหล่งอื่น ควบคุมโรค แมลงและสัตว์ศัตรูข้าว โดยวิธีผสมผสานที่ไม่ใช้สารเคมี เลือกใช้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสม มีความต้านทานโดยธรรมชาติ จัดการพืช ดิน และน้ำ ให้ถูกต้องเหมาะสมกับความต้องการของต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตได้ดี มีความสมบูรณ์แข็งแรงตามธรรมชาติ การจัดการสภาพแวดล้อมไม่ให้เหมาะสมต่อการระบาดของโรค แมลงและสัตว์ศัตรูข้าว เป็นต้น ซึ่งนับเป็นการรักษาสภาพแวดล้อม ทำให้ได้ผลิตผลข้าวที่มีคุณภาพดี ปลอดภัยจากอันตรายของผลตกค้าง ส่งผลให้ผู้บริโภคมีสุขอนามัย และคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งนับตั้งแต่ฤดูกาลผลิตปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการผลิตข้าวอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตรประมาณปีละ 100 รายในพื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็น ผลผลิตรวมประมาณปีละ 2,000 ตัน ส่วนใหญ่ส่งไปจำหน่ายตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะแถบยุโรป ส่วนที่เหลือวางจำหน่ายภายในประเทศ ซึ่งราคาข้าวเปลือกอินทรีย์ที่เกษตรกรได้รับสูงกว่าราคาข้าวเปลือกโดยทั่วไปประมาณร้อยละ 10 แต่ส่วนที่เป็นข้าวสารบรรจุวางจำหน่ายในประเทศไทยมีราคาสูงกว่าข้าวสารทั่วไปประมาณร้อยละ 20 โดย 2 สายพันธุ์ที่นิยมปลูก คือ ขาวหอมมะลิ 105 และ กข 15 มีคุณภาพเมล็ดดีเป็นพิเศษ แต่เป็นพันธุ์ข้าวที่ผ่านการคัดเลือกตามระบบเกษตรเคมี จึงต้องมีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวสำหรับปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะต่อไป

เพื่อให้ระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ในประเทศไทยมีประสิทธิภาพ ถูกต้องตามหลักเกษตรอินทรีย์ คุณภาพดี ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ จำเป็นต้องมีระบบการตรวจสอบ ควบคุม กำกับ และรับรองคุณภาพของผลผลิตที่เป็นมาตรฐานสากล โดยมีการกำหนดมาตรฐาน (Standard setting) ตรวจสอบ (Inspection) และออกใบรับรอง (Certification) ผลผลิตข้าวอินทรีย์โดยรัฐเป็นผู้รับรอง (Accreditation) แล้วจึงประสานงานกับ หน่วยงานในต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movement) และ EEC (European Economic Community มาตรฐานนำเข้าสินค้าเกษตรของสหภาพยุโรป) ซึ่งขั้นตอนสำคัญ คือ การตรวจสอบขั้นตอนการผลิตในไร่นา ดูแลให้วิธีการผลิตข้าวอินทรีย์เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักการเกษตรอินทรีย์ และการตรวจสอบรับรองคุณภาพผลผลิตในห้องปฏิบัติการเพื่อให้แน่ใจว่าผลผลิตที่ได้จากการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ มีคุณภาพดี ปลอดภัยจากสารพิษ สอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนด

ชาวนาเกษตรอินทรีย์เองก็มีการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายเช่นกัน นอกจากเพื่อให้สามารถกำหนดราคาขายข้าวได้เอง เพื่อต่อกรกับกลไกตลาดปัจจุบันที่ชาวนาขายข้าวไม่ได้ราคา ยังมีเครือข่ายหนึ่งที่กำหนดคุณสมบัติผู้ผลิตข้าวชูคุณธรรม โดยการนำของวิจิตร บุญส่ง ภายใต้เครือข่ายมูลนิธิธรรมร่วมใจ วัดป่าสวนธรรม อ.นาโส่ จ.ยโสธร สร้างคนและผลผลิต ด้วยตราสินค้า “ข้าวคุณธรรม” ซึ่งชาวนาผู้ปลูกข้าวทุกคนถือศีลและลดอบายมุขคือไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นการพนัน รวมทั้งซื่อสัตย์ในอาชีพ ไม่ใช้สารเคมีเพื่อให้คนกินได้กินข้าวที่ดี มีคุณภาพแท้ๆ ก่อเกิดความรับผิดชอบต่อลูกค้า สิ่งแวดล้อม และโลกไปพร้อมกัน

เครือข่ายเลมอนฟาร์มมีข้าวเลมอนฟาร์มชนิดพิเศษที่เสาะแสวงหาข้าวเกษตรอินทรีย์มาจากทุกภูมิภาค มีการทำงานต่อเนื่องกับชุมชนผู้ผลิต มีแหล่งที่มาชัดเจน ทั้งจากดอยสูง ที่ราบสูงอีสาน จนถึงภาคใต้ทั้งเกษตรและชุมชน ศรัทธาและยึดมั่นในวิถีเกษตรอินทรีย์บนหลักการของประโยชน์ต่อสุขภาพผู้กิน ผู้ปลูก และสิ่งแวดล้อม รวมถึงสนับสนุนการซื้อผลผลิตจากชุมชนบนหลักการค้าเป็นธรรม (Fair Trade) และสนับสนุนพันธุ์ข้าวท้องถิ่น เพื่อรักษาสายพันธุ์ข้าวของแผ่นดินไทย และเหมาะกับภูมิอากาศ ไม่ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยา เช่น ข้าวกล้องหอมมะลิ (Homnil Brown Rice) จากผืนนาเกษตรอินทรีย์ จ.สุรินทร์ ข้าวก่ำดอย (KumDoi Rice) ข้าวไร่พันธุ์พื้นเมืองของชาวเขา ข้าวสังหยด (Sungyod Brown Rice) ข้าวท้องถิ่นพัทลุง ใช้เวลาปลูกนานถึง 4 เดือน มีวิตามินบีสูงกว่าข้าวทุกชนิด ข้าวฮางหอมมะลิ (Parboiled Rice) ข้าวปลอดภัยจากสารพิษในวิถีการผลิตดั้งเดิมของชาวภูไท และข้าวห้าสี รวมคุณค่าดีของข้าวไทย 5 สายพันธุ์คือ ข้าวกล้องหอมมะลิแดง ข้าวเหนียวขาว กข6 ข้าวกล้องหอมมะลิ ข้าวหอมนิล และข้าวหอมมะลิขาว

ขณะที่โครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัยทางทิศตะวันออกของสนามบินสุโขทัย ก็เป็นผืนนา แปลงผัก สวนผลไม้ ในวิถีเกษตรอินทรีย์เช่นกัน จากที่เคยปลูกข้าวเพียงอย่างเดียวในผืนนาขนาดเล็ก ผลผลิตที่ได้เพียงแค่จำหน่ายให้ครัวสายการบินกรุงเทพและพนักงานบริษัทในเครือ ทุกวันนี้ผลผลิตอินทรีย์ออกดอกผลงอกงามมีปริมาณมากพอจำหน่ายแก่ผู้บริโภคทั่วไป โดยเฉพาะ “ข้าวหอมสุโข” ข้าวอินทรีย์ระดับพรีเมี่ยม เมล็ดสวยและสมบูรณ์ มีให้เลือกทั้งข้าวกล้องหอมดำ ข้าวกล้องหอมแดง ข้าวกล้องหอมผสม และข้าวซ้อมมือสีชมพู

* โครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย ต.คลองกระจง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย 64110 โทรศัพท์ 055-647-290 เว็บไซต์ www.kaohomsukhothai.in.th

This article is from: