
2 minute read
โครงการศึกษาภูมินิเวศชนบท สำหรับการวางแผนพัฒนาพื้นที่ที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศและวิถีชีวิต
from โครงการศึกษาภูมินิเวศชนบท สำหรับการวางแผนพัฒนาพื้นที่ที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศและวิถีชีวิต
by RefieldLab

แผนที่ประเทศไทยแสดงตำแหน่งตำบลในโครงการบ้านมั่นคงชนบททั้งก่อน ระหว่าง และหลังดำเนินการของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
การศึกษาภูมินิเวศชนบทเป็นการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของระบบนิเวศและวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ภูมินิเวศเพื่อนำมาอธิบายนิเวศบริการของภูมิินิเวศนั้น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนในพื้นที่คุ้นชิน และอยู่ร่วมกับระบบความสัมพันธ์นี้มาอย่างยาวนานจนมองข้ามความสัมพันธ์เหล่านี้ไป และหันมาอาศัยการพัฒนาพื้นที่และวิถีชีวิตที่รัฐสนับสนุนแทน การพัฒนาพื้นที่และวิถีชีวิตตามที่รัฐสนับสนุนนั้นเป็นรูปแบบของการพัฒนาโดยการสร้างมาตรฐานเดียวกันที่ทำให้เกิดตัวชี้วัดของโครงการสำหรับการตรวจสอบผลงาน การดำเนินงาน และงบประมาณที่ประเมินได้ด้วยบริบทเดียวกัน แต่เนื่องจากลักษณะบริบทพื้นที่ วิถีชีวิต รวมถึงความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชนมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ จึงทำให้การสนับสนุนการพัฒนาเหล่านั้นมีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลวไป พร้อม ๆ กัน การพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นการส่งเสริมการพัฒนาจากระบบภายในชุมชน สร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับท้องที่ และท้องถิ่น สร้างกลไก กระบวนการทำงานภายในชุมชน โดยมีเจ้าหน้าที่และสถาปนิกของ พอช. เป็นที่ปรึกษาและร่วมพัฒนา ตลอดจนมีการบริหารจัดการโครงการและงบประมาณไปด้วยกัน การพัฒนาโครงการจึงให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานของชุมชนเป็นหลัก และเมื่อขยายแนวคิดการพัฒนาบ้านมั่นคงสู่พื้นที่ชนบท ซึ่งมีบริบทแตกต่างกันกับพื้นที่เมือง ความสัมพันธ์ของพื้นที่ ระบบนิเวศ และปัญหาเชิงกฎหมายที่แตกต่างกัน จึงนำไปสู่ความร่วมมือของภาคีเครือข่าย หน่วยงาน สถาบันการศึกษา และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางการพัฒนาร่วม ให้การพัฒนาบ้านมั่นคงชนบทมีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการและการใช้งานของผู้คนในชุมชนมากที่สุด การศึกษาภูมินิเวศชนบทของรีฟีลด์ แล็บ เป็นการศึกษาเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของภูมินิเวศและความสัมพันธ์ของผู้คนในพื้นที่อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างเหมาะสมกับเงื่อนไขของพื้นที่ นิเวศบริการ พลวัตทางธรรมชาติ และสภาวการณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่สูงขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในพื้นที่ภูมินิเวศชนบท การทำความเข้าใจพื้นที่ของตนเอง การเห็นปัญหาและศักยภาพจะเป็นการพัฒนาพื้นที่ที่คำนึงถึงความสามารถของภูมินิเวศต่อการใช้งาน ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดประโยชน์ตามความต้องการของผู้คนแล้วยังช่วยให้เกิดการรักษาระบบนิเวศที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชุมชนด้วยเช่นกัน นอกจากจะเป็นข้อมูลเพื่อประกอบการวางแผนการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงชนบทแก่ชุมชน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและสถาปนิก พอช. แล้ว จะเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาภูมินิเวศชนบทในเชิงผัง (landscape planing) เพื่อให้เห็นภาพรวมของพื้นที่ทั้งตำบล ตั้งแต่ความสัมพันธ์ของพื้นที่โดยรอบและระบบนิเวศที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน ขนาดพื้นที่ ตำแหน่งการใช้งาน และพื้นที่ปัญหาที่จะนำไปสู่การแก้ไข เป็นต้น การทำงานเชิงผังจะทำให้เข้าใจพื้นที่มากยิ่งขึ้น และการสนับสนุนให้เกิดการสร้างผังควบคู่ไปกับแผนพัฒนา (development plan) อันเป็นของรายละเอียดเนื้อหาที่จะเป็นทิศทางสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ นโยบาย และคาดการณ์ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ นอกจากนี้การอธิบายนิเวศบริการและความสัมพันธ์ระหว่างระบบนิเวศกับวิถีชีวิตและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนให้ชุมชนเองได้เข้าใจ จะเป็นการสร้างการตระหนักถึงการดำรงชีวิตที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศและธรรมชาติโดยตรงของพื้นที่ชนบท และชี้ให้เห็นว่าด้วยเหตุนี้ชนบทจึงเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างชัดที่สุด หากปล่อยให้เกิดการเสื่อมโทรมทางธรรมชาติจนเกิดเป็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง การปรับเปลี่ยน การปรับตัว และการหาทางออกจะเป็นไปได้ยากตามไปด้วย นอกจากนี้ทรัพยากรที่สูญเสียไปจากการพัฒนาอย่่างไม่เข้าใจภูมินิเวศจะส่งผลทั้งต่อพื้นที่ของตนและพื้นที่อื่นที่มีความสัมพันธ์เชื่อมต่อกัน การศึกษานี้ได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับพื้นที่โครงการบ้านมั่นคงชนบทปี พ.ศ. 2565 โดยคัดเลือกพื้นที่ที่มีภูมินิเวศแตกต่างกันเพื่อให้เกิดต้นแบบการศึกษาที่หลากหลาย และทดลองศึกษาให้เกิดการเปรียบเทียบในลักษณะภูมินิเวศทั้งในภูมินิเวศคล้ายกันและแตกต่างกัน ได้แก่ ภูมินิเวศที่ราบอีสาน ภูมินิเวศชายฝั่งทะเล และภูมินิเวศหุบเขา ซึ่งเป็นการสร้างบทสนทนาใหม่ให้การพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงชนบทที่ไม่ได้พัฒนาเพียงเฉพาะที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่เสนอการพัฒนาบนพื้นฐานของภูมินิเวศ และใช้วิธีการที่แตกต่างกันตามเงื่อนไขของภูมินิเวศ ในแนวคิดของการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นฐาน (Nature-based Solutions) และคาดว่าการศึกษาภูมินิเวศที่มากขึ้นจะเห็นตัวอย่างของการพัฒนาที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นในอนาคต รายงานเล่มนี้ประกอบขึ้นจากข้อมูลหลากหลายส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลจาก พ่อ ๆ แม่ ๆ และพี่น้องในชุมชนพื้นที่ศึกษา ตำบลยอด จังหวัดน่าน ตำบลโพนสวรรค์ ตำบลโพนบก ตำบลโพนจาน ตำบลนาใน จังหวัดนครพนม ตำบลบางเตย จังหวัดพังงา และชุมชนใกล้เคียงที่ได้ลงพื้นที่ศึกษา และเรียนรู้กระบวนการต่าง ๆ ร่วมกัน ตำบลบ้านพี้ จังหวัดน่าน ตำบลแจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง ตำบลแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ ตำบลวังตามัว หมู่บ้านนาถ่อน จังหวัดนครพนม หมู่บ้านโคกสะอาด จังหวัดสกลนคร ตำบลบางนายสี ตำบลหล่อยูง จังหวัดพังงา ตำบลดงขี้เหล็ก จังหวัดปราจีนบุรี และตำบลป่าเด็ง จังหวัดเพชรบุรี เป็นข้อมูลที่มีค่าและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง การประสานงานจากเจ้าหน้าที่ภาคต่าง ๆ และพี่ ๆ น้อง ๆ สถาปนิกของพอช. ทุกภาคส่วน และขาดไม่ได้กับการทำงานร่วมกันของพี่ ๆ น้อง ๆ และอาจารย์ในภาคีนักออกแบบที่ได้ทั้งทักษะประสบการณ์ ความรู้ และกระบวนการทำงานร่วมกับชุมชนที่มีค่ามาก
Advertisement
ภูมินิเวศหุบเขา Basin Landscape

Basin Landscape
ตำบลยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน
ลักษณะภูมินิเวศของพื้นที่ตำบลยอดเป็นภูมินิเวศหุบเขา ซึ่งมีแนวเทือกเขาล้อมรอบพื้นที่หุบ แนวเทือกเขาในพื้นที่ตำบลยอดสามารถแบ่งออกตามความลาดชันออกได้เป็น พื้นที่ภูเขามีความลาดชันสูงมากกว่า 20% และพื้นที่เชิงเขาที่เป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างภูเขาและพื้นที่หุบ มีความลาดชันอยู่ระหว่าง 5 - 20% และพื้นที่ราบในหุบเขาในพื้นที่ลุ่ม มีความลาดชันต่ำกว่า 5% พื้นที่ในแต่ละลักษณะจะต้องมีการจัดการที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะความลาดชัน เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการในภูมินิเวศ ซึ่งเป็นการรักษาปัจจัยที่เอื้อแก่ระบบนิเวศในพื้นที่ พื้นที่ภูเขา จะต้องรักษาสิ่งปกคลุมดินในพื้นที่ลาดชัน เพื่อคงนิเวศบริการด้านการเป็นสันปันน้ำและการชะลอน้ำผิวดิน ดังนั้นพื้นที่ที่เป็นภูเขาจึงไม่ควรมีการใช้งานในเชิงเกษตรกรรมแต่สามารเข้าใช้งานผลผลิตจากป่าได้ พื้นที่เชิงเขา พื้นที่มีความลาดชันที่ต่อเนื่องลงมาจากภูเขา ทำงานร่วมกับพื้นที่ภูเขาในการรักษาความชุ่มชื้นในพื้นที่ มีการปรับเปลี่ยนสิ่งปกคลุมดินเพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ดังนั้นการเกษตรในบริเวณจะต้องเสริมความสามารถในการชะลอการไหลของน้ำคงความชุ่มชื้นในพื้นที่ เพื่อรักษานิเวศบริการในพื้นที่ เช่น การลดการตกกระทบของน้ำฝน ที่จะกัดเซาะหน้าดิน การลดความเร็วของน้ำไหลหน้าดิน พื้นที่ราบในหุบเขา เป็นพื้นที่ที่ทำหน้าที่รวมน้ำจากสันปันน้ำ ทำให้พื้นที่มีความชุ่มชื้นมากที่สุด และเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการอยู่อาศัยเนื่องจากมีความลาดชันน้อย เข้าถึงแหล่งทรัพยากร คือ น้ำ อาหาร ได้สะดวกที่สุด นอกจากนี้ยังต้องอาศัยปัจจัยเรื่องปริมาณน้ำ ซึ่งมาจากการวิเคราะห์ขอบเขตลุ่มน้ำเชิงผังที่จะช่วยในการพิจารณาเรื่องลักษณะของพืชพรรณที่เหมาะสมมาใช้ด้วยเช่นกัน และลักษณะภูมินิเวศ แหล่งน้ำ ที่มีความสำคัญต่อพื้นที่หุบเขามากที่สุด เป็นองค์ประกอบที่เชื่อมต่อพื้นที่จากพื้นที่สูงไปจนถึงพื้นที่ลุ่ม ลำห้วยในพื้นที่หุบเขาจะต้องมีการรักษาคุณภาพน้ำ โดยการรักษาตลิ่งชายน้ำไว้ด้วยพืช ให้พืชช่วยในการกรองตะกอนดิน ดูดซับธาตุอาหาร และเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ นอกจากนี้ยังจะต้องรักษาพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมถึงตามฤดูกาลไว้ไม่ให้มีสิ่งปลูกสร้าง เพื่อลดความเสียหายจากการไหลเข้าเอ่อของน้ำ การรักษาองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับระบบน้ำอย่างเป็นองค์รวม คือ รักษากระบวนการของน้ำที่ไหลตามผิวดิน รักษาคุณภาพน้ำในลำห้วย ก็เป็นการรักษาระบบน้ำในดินให้สร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่ให้ยาวนานขึ้น โดยทำการรักษาระบบให้สอดคล้องกับวัฎจักรตามธรรมชาติ ก็จะช่วยส่งเสริมนิเวศบริการในพื้นที่อย่างเป็นมิตรในระยะยาว
ภูมินิเวศที่ราบอีสาน Northeast Plate Landscape

Northeast Plate Landscape
ตำบลโพนสวรรค์ ตำบลโพนบก ตำบลโพนจาน และตำบลนาใน อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม
ลักษณะภูมินิเวศของพื้นที่อีสานเหนือในเขตภูมินิเวศป่าดงเซกาแปลงที่ 2 มีลักษณะของพื้นที่ตามความสูง คือ พื้นที่โคก พื้นที่ลุ่ม และพื้นที่ริมห้วย มีลักษณะการใช้งานในแต่ละส่วนที่แตกต่างกันออกไป พื้นที่โคก เป็นพื้นที่ป่าโคกและแปลงยางพารา เป็นจุดที่น้ำไหลออกพื้นที่ได้ไวกว่าพื้นที่อื่น ด้วยความสูงของพื้นที่ ทำให้จะมีความแห้งแล้งในช่วงหน้าแล้งค่อนข้างมาก แต่การรักษาพืชยืนต้นและพืชคลุมดินไว้ในพื้นที่นี้ จะช่วยในการลดอัตราการระเหยของน้ำและเพิ่มอัตรการซึมน้ำของน้ำผิวดิน ซึ่งจะเป็นพื้นที่เติบโตของเห็ดอีกด้วย พื้นที่ลุ่ม เป็นพื้นที่ป่าศักดิ์สิทธิ์ หรือดอนปู่ตา คือเป็นโคกในบริเวณที่ลุ่ม มีความชุ่มชื้น ทำให้เป็นแหล่งทรัพยากรที่หลากหลายของชุมชน ในส่วนพื้นที่ลุ่มหรือลาดเอียงที่เป็นรอยต่อระหว่างที่ดอนและที่ลุ่ม จะเป็นพื้นที่ทำนา หน้าที่ส่วนหนึ่งช่วยในการรับน้ำฝน การเป็นนาข้าวทำให้มีการซึมของน้ำลงสู่ใต้ดิน พื้นที่ริมห้วย เป็นพื้นที่ที่สำคัญต่อระบบนิเวศ คือเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสารอาหารระหว่างแผ่นดินและน้ำ การไปลเข้าท่วมของน้ำในหน้าน้ำ ยังทำให้พื้นที่ริมห้วยกลายเป็นพื้นที่อาศัยของลูกปลา ซึ่งคนในพื้นที่สามารถได้ประโยชน์จากการจับปลาในช่วงปลายฤดูฝนได้ เราได้เดินทางไปศึกษากรณีเทียบเคียง เพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งานพื้นที่และแนวทางการพัฒนาพื้นที่อย่างสอดคล้องกับภูมินิเวศ
ภูมินิเวศชายฝั่งทะเล Coastal Landscape

Coastal Landscape
ตำบลบางเตย อำเภอเมือง จังหวัดพังงา
ภูมินิเวศของพื้นที่เป็นพื้นที่หุบเขา ทำให้กระบวนการภายในพื้นที่เป็นกระบวนการของน้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ กระทำกับสิ่งปกคลุมผิวดิน และก่อให้เกิดลักษณะพื้นที่ต่าง ๆ ขึ้นมา ซึ่งมนุษย์ได้เข้าไปดัดแปลงพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำรงชีพ โดยเฉพาะการสร้างบ้านเรือนและที่ทำกิน พื้นที่ตำบลบางเตย สามารถแบ่งออกตามลักษณะของภูมินิเวศและการใช้ประโยชน์ได้ 3 พื้นที่ด้วยกัน ได้แก่ พื้นที่เชิงเขา เป็นพื้นที่ต้นน้ำให้แก่พื้นที่ เป็นแหล่งทรัพยากรป่าไม้ โดยเฉพาะป่าดิบชื้น รวมถึงเป็นแหล่งทรัพยากรหินปูนที่เป็นสาเหตุหนึ่งเรื่องมลพิษทางอากาศของคนในพื้นที่ การดำรงชีพส่วนใหญ่เป็นการทำเกษตรกรรมและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร มีการใช้ประโยชน์จากชายฝั่งบางส่วน พื้นที่ชายฝั่งทะเล เป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างน้ำจากแผ่นดินและน้ำจากทะเล เป็นแหล่งประมงหลักของพื้นที่ มีการจับสัตว์น้ำ แปรรูป รวมไปถึงการท่องเที่ยว แต่ก็เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้น้ำจากต้นน้ำ และการทำธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการปล่อยนน้ำเสียลงสู่ลำน้ำ เช่น นากุ้ง รวมไปถึงมีน้ำเสียที่เกิดจากการใช้งานของชุมชนเองด้วยเช่นกัน โดยมีผลกระทบที่สังเกตเห็นได้ คือ จำนวนสัตว์น้ำลดลง พื้นที่ปากแม่น้ำ เป็นพื้นที่เลนที่มีผู้คนตั้งถิ่นฐาน ดำรงชีพอยู่ด้วยการประมง พื้นที่มีความใกล้ชิดกับทะเลมากที่สุด ทำให้การใช้งานมีโอกาสส่งผลกระทบต่อทรัพยากรได้ไวกว่าพื้นที่อื่น รวมถึงมีโอกาสได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติมากที่สุด เช่น มรสุมและระดับน้ำทะเลที่ค่อย ๆ มีระดับสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน ถ้าหากทรัพยากรได้รับผลกระทบจากการใช้งานของมนุษย์ จะยิ่งส่งผลต่อการดำรงชีพของมนุษย์ และหมายถึงรายได้และคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่ นอกจากนี้พื้นที่ยังต้องเตรียมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งทางเศรษฐกิจและด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเห็นได้ว่าพื้นที่ชายฝั่งทะเลมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลง