1 minute read

Be a farmer at Sukhothai Airport

เป็นชาวนาที่สนามบินสุโขทัย

ภาพที่มองลงมาขณะเครื่องบินของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สกำลังลดระดับลงสู่ท่าอากาศยานสุโขทัย คือความเขียวชอุ่มของท้องทุ่งนา ครั้นเมื่อลงจากเครื่องบินมายังอาณาบริเวณของสนามบินฯ ฝูงควาย ยีราฟ ม้าลาย ที่เราเห็นในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ชวนให้คิดว่าที่แห่งนี้เป็นมากกว่าสนามบินเพื่อการสัญจร

Advertisement

ความที่ยังมีพื้นที่โล่งอีกมากรายรอบสนามบินสุโขทัย ผนวกกับเจตนารมณ์ของนายแพทย์ปราเสริฐและคุณวัลลีย์ ปราสาททองโอสถ ที่ตั้งใจสร้างประโยชน์กลับคืนสู่สังคม จึงพลิกฟื้นทุ่งโล่งให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม โดยเริ่มทดลองทำนาแบบไม่พึ่งสารเคมี ในพื้นที่ 3 ไร่ เมื่อปี พ.ศ. 2542 ขยับขยายเป็นแปลงนามากกว่า 200 ไร่ในอีก 6 ปีต่อมา ครั้นปี พ.ศ. 2549 จึงเข้าสู่ระบบเกษตรกรรมอินทรีย์เต็มรูปแบบภายใต้ชื่อ “โครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย”

โดยมีคุณศุทธาวดี เจริญรัถ เป็นผู้จัดการโครงการฯ และอาจารย์สมเดช อิ่มมาก เป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพร้อมกับทีมงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ ชาวไร่ชาวนาที่มาร่วมกันปลูกข้าวแบบไม่ใช้สารเคมี ลองผิดลองถูกกันจนถึงวันนี้พื้นที่กว่า 400 ไร่มีทั้งนาข้าว แปลงผักสวนผลไม้ สร้างผลผลิตอินทรีย์ที่มากพอจำหน่ายให้คนทั่วไป ไม่ใช่แค่ครัวสายการบินกรุงเทพและพนักงานบริษัทในเครือเช่นเมื่อแรกเริ่ม ทั้งยังเปิดให้ผู้สนใจได้เข้าชมโครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัยเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรอินทรีย์ และได้ลองเป็น “ชาวนา” ดูสักครั้ง

แปลงนาปู่ย่าตายาย พื้นที่สาธิตการทํานาของชาวนาไทยโบราณที่ทุกขั้นตอนพึ่งพาแรงงาน คนและควาย ซึ่งเป็นจุดที่ผู้เยี่ยมชมสามารถทดลองเป็นชาวนาได้ด้วยตนเอง โดยอาคารด้านหลังคือร้านอาหารครัวสุโข ที่ชั้นล่างมีครัวแยกเป็นชุดๆ ให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้และทําอาหาร เช่น ผัดผักอย่างไรให้อร่อย หรือสอนชาวต่างชาติเจียวไข่แบบไทยๆ

การท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์ของโครงการฯ แบบระยะสั้นคือทัวร์ครึ่งวัน พร้อมอาหารกลางวัน โดยมีเสื้อกางเกงม่อฮ่อมให้แปลงร่างเป็นชาวนา ดูนิทรรศการความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์เป็นการปูพรม จากนั้นนั่งรถอีแต๋นพาชม แปลงนา แปลงเพาะพันธุ์ เปิดโอกาสให้ขึ้นขี่ควาย ทดลองถอนกล้า ดำนา ชมโรงสี ไปเล้าเป็ดเก็บไข่เป็ด แปลงผักออร์แกนิก สวนผสมที่ปลูกผลไม้หลายชนิด เช่น มะละกอ กล้วย มะม่วงพันธุ์มหาชนก (อร่อยมาก) เที่ยวชมเสร็จก็มารับประทานอาหารที่ให้บรรยากาศและรสชาติโฮมเมด รายการอาหารตามแต่ผลผลิตที่มีในวันนั้นๆ เช่น สลัดผักออร์แกนิก ไข่เจียวผักโขม ไข่ต้มยางมะตูม น้ำพริกลงเรือไข่เค็ม ส้มตำผักน้ำ ขนมหวานไทยตามฤดูกาล (เช่น มะยงชิดลอยแก้ว กระท้อนลอยแก้ว)

และยังสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อินทรีย์ และอินทรีย์แปรรูปของโครงการฯ ได้ อาทิ “ข้าวหอมสุโข” ข้าวอินทรีย์ระดับพรีเมียม ข้าวกล้องหอมดำ ข้าวกล้อง หอมแดง ข้าวซ้อมมือสีชมพู ผัก ผลไม้ ไข่เป็ด น้ำใบข้าว (สกัดจากใบข้าวอ่อน) น้ำมะม่วงมหาชนก ทั้งนี้ รายการนำชมก็แล้วแต่เวลา และความสนใจของผู้เข้าชม ซึ่งสามารถเดินชมด้วยตนเองได้ หากต้องการผู้บรรยายพึงติดต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า หรือใครมีเวลามากหน่อยจะค้างสักคืนสองคืนก็ได้ มีที่พักแบบโรงแรม (โรงแรม สุโขทัย-Sukhothai Heritage Resort) และแบบโฮมสเตย์ให้บริการ เพราะรายการนำเที่ยวที่นี่เป็นแบบสบายๆ จัดสรรกิจกรรมได้อย่างยืดหยุ่น

ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ อินทรีย์แปรรูป และของที่ระลึกต่างๆ มีจําหน่ายที่ร้านขายของ ของโครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย และร้านข้าวธรรมชาติ ที่อาคารบริษัทการบินกรุงเทพ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ

ผู้เขียนจึงขอไปนอนโฮมสเตย์ที่ไร่อิ่มเอมซึ่งเป็นกลุ่มบ้านพักของทีมงานในโครงการฯ ไปขอกินข้าวกับพี่ๆ น้องๆ ในครัวยืมจักรยานไปขี่รอบๆ โครงการฯ ขี่ฉิวไปถึงอาคารผู้โดยสารสนามบินสุโขทัย ซึ่งใกล้ๆ กันเป็นเหมือนสวนสัตว์ขนาดย่อมให้ชม ม้าลาย ยีราฟ หงส์ขาว กวางดาว ละมั่ง ฯลฯ มีพิพิธภัณฑ์จีน พิพิธภัณฑ์สุโขทัย หอพระพุทธ โรงทอผ้า ไปขอความรู้จากป้าๆ พี่ๆ น้องๆ ที่ทำงานกับโครงการฯ ถึงวิธีการคัดเลือกเมล็ดข้าว การสีข้าว การทำปุ๋ยหมัก มูลไส้เดือน กลเม็ดในการเกษตรอย่างการปล่อยกองทัพเป็ดนาลงในช่วงที่ข้าวยังไม่ออกรวงเพื่อกำจัดหอยเชอรี่ ศัตรูตัวฉกาจของต้นข้าว การแปรรูปสิ่งเหลือใช้ทางการเกษตรทั้งแกลบ มูลเป็ด มูลวัวควาย รำข้าว หอยเชอรี่ เป็นปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพ เป็นการฟื้นฟูธาตุอาหารในดินและบำรุงผลผลิตให้งอกงาม

คุณป้าวัยเลยเกษียณ แต่ยังมีแรงทํานา และคัดเลือกเมล็ดข้าว

อาจารย์สมเดช อิ่มมาก นักปรับปรุงพันธุ์ข้าว ของโครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย ระหว่างพาไปดูการผสมพันธุ์ข้าวภายในโรงเรือนกางมุ้ง

ที่สำคัญคือผู้เขียนได้ตามติดอาจารย์สมเดช นักปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่มีประสบการณ์หลายสิบปี ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการศึกษาวิจัยเพื่อคัดเลือกและพัฒนาข้าวสายพันธุ์ต่างๆ ที่ปลูกในโครงการฯ แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการวิจัยพันธุ์ข้าวจะมี มูลค่าหนึ่งในสาม แต่ทางโครงการฯ ก็เล็งเห็นถึงความสำคัญในองค์ความรู้เพื่อพัฒนาผลิตผลให้ได้คุณภาพและคุณประโยชน์ หน่วยนาข้าวของโครงการฯ จึงเริ่มตั้งแต่ขั้นต้นในการเตรียมแปลงนา คัดเลือกพันธุ์ข้าว ตกกล้า ปักดำ ปกป้องข้าวจากศัตรูพืชและโรคพืช หมักปุ๋ยอินทรีย์ บำรุงดินในแปลงนา เก็บเกี่ยวข้าวขึ้นยุ้ง โดยมีหน่วยวิจัยและ พัฒนาพันธุ์ข้าวของอาจารย์สมเดชคอยสนับสนุนภายในโรงเรือนกางมุ้งคือที่เพาะพันธุ์ และปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวด้วยการปลูกลงกระถาง คอยเก็บข้อมูล ดูการเจริญเติบโต จากการผสมพันธุ์ข้าวที่อาศัยการเก็บเกสรตัวผู้จากต้นข้าวพันธุ์ที่ต้องการมาใส่ในกระเปาะเกสรตัวเมียของดอกข้าวแล้วใช้พลาสติกคลุมไว้เพื่อป้องกันเกสรตัวผู้ตัวอื่นลอยมาติด ซึ่งอาจทำให้เกิดการผสมพันธุ์กันเองหรือกลายพันธุ์ทำให้ไม่ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ได้ทดลองนำเกสรตัวผู้ที่ฟุ้งกระจายแล้วคีบใส่ทีละดอกๆ พบว่าต้องใช้สมาธิ ความนิ่ง และความตั้งใจมาก ทำแล้วก็ยังไม่เห็นผลต้องใช้เวลาและคอยดูการเติบโตอย่างอดทน ครั้นเดินไปแปลงทดลองข้าวสาลี พันธุ์สะเมิง 60 ซึ่งออกรวงให้เก็บเกี่ยวได้ แล้ว จึงได้ลองฝัดข้าวตามที่อาจารย์สมเดชทำให้ดู การฝัดข้าวคือการแยกเมล็ดข้าว และเปลือกข้าวออกจากกัน อาจใช้การตำในครกเพื่อกะเทาะเปลือกข้าวออก แต่เราใช้วิธีกะเทาะมือด้วยการกำและถูรวงข้าวสาลีไปมาจนเมล็ดและเปลือกข้าวแยกตัวอยู่ในกระด้ง แล้วค่อยฝัด (กระดกกระด้งขึ้นๆ ลงๆ) เปลือกข้าวออก นัยว่าเปลือกข้าว (แกลบ) ซึ่งเบากว่าเมล็ดข้าวจะปลิวตกออกจากกระด้งที่เราฝัดถูมือกับข้าวสาลีจนมือชา ฝัด กระด้งจนหัวเกือบหมุน สงสัยว่าไอ้ที่ทำๆ ไป เมล็ดข้าวสาลีคงตกไปพร้อมกับแกลบจนเหลือข้าวอยู่ในกระด้งไม่มาก ไม่รู้ว่าเขาเอาข้าวสาลีไปอบขนมปังได้สักกี่มากน้อย!

* โครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย ต.คลองกระจง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย 64110 โทรศัพท์ 055-647-290 เว็บไซต์ www.kaohomsukhothai.in.th

This article is from: