สูจิบัตรออนไลน์ “สังคีตสัมพันธ์” วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2565

Page 1

วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ หรือวงดนตรีกรมโฆษณาการ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยเอื้อ สุนทรสนาน, เวส สุนทรจามร และคณะนักดนตรี วงไทยฟิล์มของบริษัท ภาพยนตร์ไทยฟิล์ม จำกัด ซึ่งต้องปิดกิจการลง โดยหลวงสุขุมนัย ประดิษฐ ชักชวนให้สมาชิกวงย้ายเข้าไปสังกัดกรมโฆษณาการ และมีหน้าที่บรรเลงเพลง ส่งกระจายเสียงทางสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมโฆษณาการ และงานบันเทิงรื่นเริงและ งานเต้นรำ ตามคำขอของหน่วยราชการต่าง ๆ โดยในช่วงนั้นยังคงบรรเลงเพลงสากลที่นำ โน้ตและเนื้อเพลงมาจากวงไทยฟิล์มและเพลงไทยสากลที่มีชื่อเสียงจากภาพยนตร์ ในระยะแรก นักดนตรีกรมโฆษณาการจึงเป็นชุดเดียวกับนักดนตรีจากวงไทย ฟิล์ม ซึ่งล้วนแต่เป็นข้าราชการสังกัดกรมศิลปากร โดยมีเอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวง และคณะซึ่งประกอบด้วย สังเวียน แก้วทิพย์, สมบูรณ์ ดวงสวัสดิ์, เวส สุนทรจามร, ภิญโญ สุนทรวาท, สริ ยงยุทธ, คีติ คีตากร, สภา กล่อมอาภา, สมบูรณ์ ศิริภาค, ทองอยู่ ปิยะสกุล และสมพงษ์ ทิพยกะลิน ส่วนจำปา เล้มสำราญ มาจากกองดุริยางค์ทหารบก ส่วนนักร้องของวงในยุคถัดมาได้แก่ มัณฑนา โมรากุล , รุจี อุทัยกร, ล้วน ควัน ธรรม, สุปาณี พุกสมบุญ, เลิศ ประสมทรัพย์, วินัย จุลละบุษปะ, ชวลี ช่วงวิทย์, สุภาพ รัศมีทัต, เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, จันทนา โอบายะวาทย์ และจุรี โอศิริ
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ กรมโฆษณาการเปลี่ยนชื่อเป็นกรมประชาสัมพันธ์ วงดนตรีจึงเปลี่ยนชื่อตามกรมเป็นวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และเพิ่มสมาชิกคือ วรนุช อารีย์, ศรีสุดา รัชตะวรรณ, พูลศรี เจริญพงษ์, และสมศักดิ์ เทพานนท์ เข้ามาทดแทน นักร้องที่ลาออกไป และมีการเต้นลีลาศที่นิยมมากในยุคนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นต้นมา นับว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของ บทเพลงกรม ประชาสัมพันธ์ หรือวงสุนทราภรณ์ เพราะประเทศไทยมีโทรทัศน์เข้ามาเผยแพร่ครั้งแรก ซึ่งยุคนี้นับว่าเป็นยุคที่เฟื่องฟูมาก มีการทำละครประกอบบทเพลงมากมาย มีนักร้องเข้า มาสมัครหลายคน ประกอบด้วย รวงทอง ทองลั่นธม, มาริษา อมาตยกุล, บุษยา รังสี, อ้อย อัจฉรา และหม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เป็นต้น จากนั้นจึงเริ่มต้นยุคของดาวรุ่ง นักร้องที่เข้ามาในระยะนี้ มีทั้งส่วนที่บรรจุเป็น ข้าราชการ ในตำแหน่งคีตศิลปิน และมิได้เข้ารับราชการอาทิ โสมอุษา, นพดฬ ชาวไร่เงิน, สุวณีย์ เนื่องนิยม, ธรรมรัตน์ นวมะรัตน์, ยรรยงค์ เสลานนท์, ดำรงค์ สุทธิพงษ์, รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส, ศรวณี โพธิเทศ, พรเทพ สุขขะ, จินตนา สุวรรณศิลป์, จั่นทิพย์ สุถินบุตร, สมคิด เกษมศรี, อโศก สุขศิริพรฤทธิ์, รัตนสุดา วสุวัต, พรรณี สกุลชาคร, อรพร บงกช เป็นต้น สังคีตสัมพันธ์ เพลงสังคีตสัมพันธ์ของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ หากแบ่งความหมายตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ “สังคีต” หมายถึง การร้องรำทำเพลง “สัมพันธ์” หมายถึง ผูกพัน เกี่ยวข้อง “สังคีตสัมพันธ์” จึงน่าจะมีความหมายว่า การนำดนตรีหรือบทเพลงต่าง รูปแบบมาบรรเลงผสมกันได้อย่างไพเราะกลมกลืน ดังนั้นเพลงสังคีตสัมพันธ์ จึงเป็น บทเพลงที่เป็นการบรรเลงผสมกันระหว่างเครื่องดนตรีไทยกับเครื่องดนตรีสากลของ วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นการบรรเลงผสมกันไปโดยใช้ทำนองเพลงไทยเป็นหลัก จุดเริ่มต้นของวงดนตรีสังคีตสัมพันธ์ กำเนิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของพลโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร อดีตอธิบดีกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) ที่ต้องการให้วง
ดนตรีสากลประเภทหัสดนตรี และวงดนตรีไทยของกรมประชาสัมพันธ์บรรเลงร่วมกันได้ ด้วยเสียงที่ผสมกลมกลืนไพเราะ มีความเป็นไทยผสมสากล ดังพระราชเสาวนีย์ของ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ที่เคยได้ทรงตรัสไว้ว่า “ดนตรีไทยกับดนตรีสากลนั้น ควรจะเล่นรวมกันได้” ท่านอธิบดีพลโทหม่อมหลวงขาบ กุญชร นั้นเป็นผู้ที่มีความรู้ทางด้านดนตรีไทย และดนตรีสากลเป็นอย่างดี ยิ่งทางด้านดนตรีไทยแล้วท่านมีความรู้ความสามารถและ ชำนาญเป็นพิเศษ เนื่องจากมีเชื้อสายทางดนตรีไทยอย่างแนบแน่นมาจากท่านเจ้าพระยา เทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) ผู้เป็นบิดา ด้วยความที่ท่านเป็นคนที่รักดนตรีไทย อย่างเป็นชีวิตจิตใจ ท่านจึงคิดจะปรับปรุงวงดนตรีไทยของกรมประชาสัมพันธ์ให้ดีขึ้น เพื่อให้วงดนตรีไทยมีชื่อเสียงเท่ากับวงดนตรีสากล ซึ่งในขณะนั้นมีชื่อเสียงมากที่สุด ใน นามของวงดนตรี “สุนทราภรณ์” ที่มีคุณครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวง จึงได้มีการ บรรจุตำแหน่งข้าราชการในแผนกดนตรีไทย ซึ่งมีนักดนตรีและนักร้องที่มีฝีมือยอดเยี่ยม ได้รับการบรรจุหลายท่านด้วยกัน อีกทั้งยังได้นักดนตรีอาวุโสอีกท่านหนึ่งที่มีความรู้ ความสามารถทางดนตรีไทยอย่างยอดเยี่ยม ทั้งในด้านการบรรเลงและในด้านการ ประพันธ์เพลงมาเป็นที่ปรึกษา ศิลปินอาวุโสท่านนั้น คือ คุณครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ หรือ เดิมท่านมีชื่อว่า พุ่มเล็ก ความรอบรู้เกี่ยวกับเรื่องการดนตรีไทยของคุณครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ นั้นเป็นที่ ประจักษ์ในวงการดนตรีไทยทั่วไป ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าสมัยหนึ่งนั้น ทางราชการได้ริเริ่ม พัฒนาฟื้นฟูเพลงไทยขึ้น จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพลงไทยขึ้นชุดหนึ่ง เพื่อบันทึกลงเป็นโน้ตสากล โดยมีท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็น หัวหน้าผู้บอกทำนองเพลงไทย และท่านอาจารย์พระเจนดุริยางค์ เป็นหัวหน้าในการ จดโน้ตสากล พร้อมด้วยครูผู้เชี่ยวชาญการดนตรีไทยและสากล ในการนี้คุณครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการร่วมผู้หนึ่งด้วย เมื่อกรมประชาสัมพันธ์ ได้รับบรรจุนักดนตรีฝีมือดี พร้อมทั้งท่านครูอาวุโส เข้า มาประจำที่แผนกดนตรีไทยแล้วก็เริ่มฝึกซ้อมทันที วงดนตรีไทยของกรมประชาสัมพันธ์ใน ขณะนั้น อยู่ในความควบคุมของคุณ คงศักดิ์ (ทองสุข) คำศิริ ที่ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าแผนกอยู่ ท่านอธิบดีพลโทหม่อมหลวงขาบ กุญชร มักลงมาซ้อมเล่นดนตรีร่วมวง ด้วยทุกครั้ง บางครั้งจะซ้อมกันจนถึง ๒ ๓ ทุ่ม โดยท่านจัดอาหารหวานคาวมาเลี้ยง
ทำให้นักดนตรีทุกคนมีความภูมิใจเป็นอย่างมากที่มีท่านอธิบดีให้การสนับสนุนวงการ เพลงไทยด้วยใจจริง ซึ่งในการฝึกซ้อมวงดนตรีบางครั้ง เกิดไปพ้องกับการฝึกซ้อมของวง ดนตรีสากลเข้า ทำให้เสียงดนตรีไทยกับเสียงดนตรีสากลนั้นคลุกเคล้าผสมผสานกันไป โดยกฎแห่งธรรมชาติ จึงได้บังเกิดเป็นเสียงที่แปลกประหลาดขึ้นมาโดยมิได้ตั้งใจ สาเหตุที่ เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นก็เป็นเพราะว่าห้องซ้อมดนตรีของทั้ง ๒ วงนี้อยู่ชิดติดกัน เพียงมีฝากั้น กลางเท่านั้น จากเหตุผลในข้อนี้ทำให้ท่านอธิบดีพลโทหม่อมหลวงขาบ กุญชร มีดำริที่จะ ทำวงดนตรีผสมขึ้น โดยร่วมกับคุณครูเอื้อ สุนทรสนาน เพื่อเป็นการเชิดชูเพลงไทยให้ จำง่ายขึ้น โดยการนำเครื่องดนตรีไทยกับเครื่องดนตรีสากลมาบรรเลงร่วมกันได้อย่างแนบ สนิทและยังคงรักษาบรรยากาศแบบไทย ๆ ไว้ได้อย่างกลมกลืนจึงได้เกิดเพลง “กระแต” ขึ้นเป็นเพลงผสมบทเพลงแรกจากเพลงไทยเดิมที่ชื่อว่า “กระแตเล็ก” โดยมีคุณครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ เป็นผู้บอกทางเพลงไทยให้แล้วนำมาบรรเลงร่วมกันด้วยวงดนตรีไทยกับวง ดนตรีสากล ในรูปแบบสังคีตสัมพันธ์ เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ การบรรเลงในรูปแบบสังคีตสัมพันธ์ของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ในสมัยนั้น มี ความไพเราะแนบสนิทในการบรรเลงผสมระหว่างเครื่องดนตรีไทยกับเครื่องดนตรีสากล ผสมกลมกลืนกันอย่างระรื่นหู ทั้งนี้เป็นเพราะในการนำเพลงไทยมาบรรเลงในแบบผสมนี้ แต่ละเพลงได้ข้อมูลและกฎเกณฑ์หลายสิ่งหลายอย่างของเพลงไทยทั้งท่วงทำนองลูกล้อ ลูกขัด จากคำแนะนำของคุณครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ ที่ว่าการบรรเลงเพลงผสมรูปแบบสังคีต สัมพันธ์ ต้องนำเครื่องดนตรีไทยทุกชนิดที่จะร่วมวงกับวงดนตรีสากลนั้น ไปเทียบเสียงให้ เท่ากับทางเครื่องดนตรีสากลเสียก่อน จะทำให้ระดับเสียงนั้นกลมกลืนกันอย่างแนบสนิท ในการบรรเลงร่วมกัน ทั้งยังได้บอกอีกว่า “อันทำนองของเพลงไทยนั้น มีความไพเราะ เพราะพริ้งอยู่ในตัวของบทเพลงแล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะนำเสียงประกอบอื่น ๆ เข้ามาปะปน มากนัก จะทำให้ทำนองของเขาหมดคุณค่าไป” ดังนั้นในการเรียบเรียงเสียงประสานของ วงดนตรีสากลที่จะนำมาบรรเลงร่วมกับวงดนตรีไทย คุณครูเอื้อ สุนทรสนาน ท่านจึง พิถีพิถันมากถึงกับวางแนวการเรียบเรียงเสียงประสาน สำหรับการบรรเลงเพลงแบบผสม ด้วยตัวท่านเองทุกครั้ง
อนึ่งนักดนตรีภายในวงดนตรีสากลนั้น มีเพลงไทยอยู่ในหัวใจแทบทุกคน ทั้งนี้ แต่ละท่านเคยผ่านการจดบันทึกทำนองเพลงไทยเป็นโน้ตสากลมาแล้วทั้งนั้น ได้แก่ ๑. คุณครูเอื้อ สุนทรสนาน เคยจดบันทึกทำนองเพลงไทยจากแนวระนาดเอก เป็นโน้ตสากล ๒. คุณครูสริ ยงยุทธ เคยจดบันทึกทำนองเพลงไทยจากแนวระนาดทุ้ม เป็นโน้ตสากล ๓. คุณครูสมพงษ์ ทิพยกะสิน เคยจดบันทึกทำนองเพลงไทยจากแนว ปี่ เป็นโน้ตสากล ๔. คุณครูทองอยู่ ปิยะสกุล เคยจดบันทึกทำนองเพลงจากแนวฆ้อง เป็นโน้ตสากล ๕. คุณครูเวส สุนทรจามร อดีตทหารกองดุริยางค์ทัพบก ที่ชีวิตคลุกคลีกับการ บรรเลงเพลงไทย ประเภทแตรวงมาอย่างโชกโชน ๖. คุณครูธนิต (บุญเรือง) ผลประเสริฐ เคยเป็นคนระนาดเอกประจำวงปี่พาทย์ ที่บ้านลูกศิษย์คุณครูเวส สุนทรจามร คุณครูเฉลิม บัวทั่ง ก่อนที่จะมาเป็นนักดนตรีสากล ๗. คุณอธึก นิลจันทร์ อดีตเคยเป็นนักเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากร อยู่วง ปี่พาทย์เป็นคนฆ้อง และเมื่อตอนเป็นเด็ก เคยเป็นคนเครื่องหนัง เพราะคุณตาเป็นเจ้าของ วงปี่พาทย์ประจำคณะลิเก นักดนตรีสากลแต่ละท่านนั้นล้วนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถทางด้านเพลงไทย อย่างมาก ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ท่านเหล่านี้สามารถเข้าถึงสำเนียงอรรถรสของ เพลงไทยอย่างแนบแน่น ถึงแม้จะเป็นการบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีสากลก็ตาม อีกทั้งยัง ประกอบกับมีผู้ประพันธ์เนื้อร้องที่มีความสามารถในทางกวีโวหาร เชื่อมโยงเนื้อร้องให้เข้า กับทำนองเพลงได้อย่างแนบเนียน มาร่วมสร้างสรรค์บทเพลง ไม่ว่าจะเป็น คุณครูแก้ว อัจฉริยะกุล คุณครูวิชัย โกกิละกนิษฐ์ หรือธาตรี คุณครูสมศักดิ์ เทพานนท์ ฯลฯ จึงทำให้ บทเพลงสังคีตสัมพันธ์มีความไพเราะกลมกลืน ทั้งคำร้อง ทำนอง จนเป็นเอกลักษณ์ของ วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อเวลาผ่านไปก็มีบทเพลงใหม่เกิดขึ้นอีกมากมายหลายเพลง และเนื่องจาก เพลงสังคีตสัมพันธ์เป็นบทเพลงที่จังหวะไม่ช้าเกินไป เนื้อร้องเข้าใจง่าย ทำให้เข้าถึงผู้ฟัง ได้ง่าย อีกทั้งเมื่อมีการเปิดสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๔ บางขุนพรหมขึ้น วงดนตรีสังคีตสัมพันธ์
ของกรมประชาสัมพันธ์เป็นวงดนตรีวงแรกที่ได้แสดงเปิดสถานีและเริ่มมีงานบรรเลงทาง สถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ และงานแสดงตามโรงภาพยนตร์มากขึ้น ท่านอธิบดีสนับสนุนให้ นักร้อง นักดนตรี แสดงละครโทรทัศน์ เพราะเวลานั้นนักแสดงยังมีไม่มาก พร้อมกันนั้นวง ดนตรีสังคีตสัมพันธ์ยังได้บรรเลงทางโทรทัศน์อย่างสม่ำเสมอ จึงทำให้เป็นที่นิยมและ ยอมรับกันโดยทั่วไป กลวิธีในการปรับระดับเสียงเครื่องดนตรีไทยและหลักการผสม วงดนตรีสังคีตสัมพันธ์ ในการปรับระดับเสียงของเครื่องดนตรีไทยของวงดนตรีสังคีตสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ จะใช้วิธีปรับระดับเสียงหรือการเทียบเครื่องจากกลวิธีของคุณครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ โดยเริ่มจากขั้นตอนต่าง ๆ กล่าวคือ นำเครื่องดนตรีไทยที่ต้องการจะปรับ ระดับเสียงให้เท่ากับเครื่องดนตรีสากล ทั้งนี้กำหนดให้เปียโนเป็นระดับเสียงหลักในการ เทียบเครื่อง เครื่องดนตรีไทยที่เป็นเสียงหลัก ได้แก่ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ซอด้วง ซออู้ จะเข้ เป็นต้น ระนาดเอกนั้นจะจัดเทียบลูกระนาดลูกที่ ๗ โดย นับจากทางหลีบ ซึ่งมีลูกระนาด ๒๒ ลูก เมื่อนับถอยหลังลงได้ลูกที่ ๗ คือเสียงซอล ซึ่งมี เสียงตรงกับทางในพอดี เทียบลูกนี้ให้มีเสียงซอลเท่ากับเสียงซอล ของเปียโน ซึ่งจะต้อง ตรงกับเสียงซอลของฆ้องวงด้วย ต่อมาจะนับลูกที่ ๑๑ จากทางหลีบ ซึ่งเป็นเสียง โด (C) อยู่แล้ว ให้มีเสียงเท่ากับโน้ตตัวโด (C) ของเปียโน เมื่อได้เทียบผืนระนาดผืนที่ ๑ นี้ ให้มี เสียงเท่ากับเสียงของเปียโน คือ บันไดเสียงโดเมเจอร์ (C Major) แล้ว จึงได้ยึดลูกระนาด ลูกที่ ๑๑ นี้ เป็นลูกที่ ๑ (Tonic) ในการเทียบเครื่องสำหรับการเทียบระนาดในผืนต่อมา ได้แก่ บันไดเสียงฟาเมเจอร์ (F Major) และบันไดเสียงมีแฟลตเมเจอร์ (Eb Major) เป็น ต้น ภายหลังในการบรรเลงเพลงสังคีตสัมพันธ์ เมื่อบรรเลงเพลงในบันไดเสียงใดก็จะยก ผืนที่มีเสียงตามบันไดเสียงนั้นมาบรรเลงได้เลย กลวิธีการปรับระดับเสียงของเครื่องดนตรีไทยเพื่อใช้กับวงสังคีตสัมพันธ์ จำเป็นต้องรู้จักระดับเสียงของเครื่องดนตรีทุกชิ้น และยังต้องศึกษาทำความเข้าใจกับ ระดับเสียงของดนตรีสากล อีกทั้งยังต้องมีการซักซ้อมการปรับระดับเสียงอยู่เสมอ เพื่อให้ นักดนตรีเกิดความเคยชินจนกลายเป็นความชำนาญ และนอกจากนี้ คุณครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ ยังได้แนะนำเคล็ดลับของการบรรเลงเพลงผสมแบบสังคีตสัมพันธ์นี้ว่า ควร
จะนำเครื่องดนตรีไทยทุกชิ้นที่จะใช้บรรเลงร่วมกับวงดนตรีสากลนั้น ไปเทียบเสียงให้ เท่ากับเสียงของเครื่องดนตรีสากลเสียก่อนทุกครั้ง เพื่อทำให้ระดับเสียงนั้นกลมกลืนกัน อย่างแนบสนิท คงที่ และเท่ากันอยู่เสมอ หลักในการผสมเครื่องดนตรีเข้าเป็นวงนั้น ผู้ที่ทำหน้าที่จำเป็นต้องมีความรู้ ความสามารถทั้งทางด้านของทฤษฎีและการปฏิบัติ จำเป็นต้องทราบถึงคุณภาพ คุณสมบัติ และขอบเขตของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นที่นำมาผสมรวมวงกัน เพื่อบรรเลงเป็น บทเพลงอันประกอบไปด้วยทำนอง (Melody) ลำนำ (Rhythm) และจังหวะ (Timing) ซึ่งเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นล้วนแล้วแต่มีบทบาทไปตามคุณลักษณะของตนเอง จึงจำเป็นต้อง แบ่งแยกและกำหนดหน้าที่กันอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งที่คุณครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ เป็นผู้บอกทำนองเพลงเพื่อดัดแปลงเป็นเพลงสังคีตสัมพันธ์ให้กับคุณครูเอื้อ สุนทรสนาน คุณครูพุ่มจะเทียบเสียงทำนองเพลงไทยกับเปียโนก่อน ถ้าเป็นบันไดเสียงที่ ตรงกันทั้งทางไทยและทางสากล เช่น บันไดเสียงโด หรือ C Major หรือบันไดเสียงฟา หรือ F Major คุณครูพุ่มจะกำหนดหน้าที่ให้เครื่องดนตรีในวงดนตรีไทยบรรเลงไปพร้อม กับเครื่องดนตรีในวงดนตรีสากล เพื่อแสดงให้เห็นถึงเสียงที่กลมกลืน มีความแนบสนิทใน การบรรเลง แต่หากเป็นเพลงที่มีสำเนียงต่างไปจากเดิม เช่น สำเนียงมอญ ซึ่งวงดนตรี สากล มีข้อจำกัดในการบรรเลงบทเพลงสำเนียงนี้ คุณครูพุ่มและคุณครูเอื้อจึง คิดใช้วิธีการให้เครื่องดนตรีไทยเพียงชิ้นใดชิ้นหนึ่งบรรเลงไปพร้อมกับวงดนตรีสากล เช่น เพลงม่านมงคล ที่มีการใช้ขลุ่ยหรือปี่มอญ บรรเลงร่วมกับวงดนตรีสากลนั่นเอง ทั้งนี้ เพื่อให้สำเนียงของเพลงมอญยังคงอยู่ พร้อมกับการบรรเลงร่วมกันไปกับวงดนตรีสากล ด้วย นอกจากนี้ ในเรื่องของการเรียบเรียงเสียงประสานที่จะให้เครื่องดนตรีชิ้นใดมี ความโดดเด่นในท่อนหรือประโยคใดของเพลง เพื่อให้เกิดความไพเราะพร้อมเพรียง เกิด ความสมบูรณ์ในบทเพลงนั้น ๆ ก็ต้องอาศัยทั้งความชำนาญและองค์ความรู้รอบด้านทั้ง ดนตรีไทยและดนตรีสากล ทั้งหมดก็เพื่อความกลมกลืนของบทเพลงสังคีตสัมพันธ์ที่ จะต้องบรรเลงควบคู่กันไประหว่างดนตรีไทยและดนตรีสากลนั่นเอง
รายชื่อเพลงผสมสังคีตสัมพันธ์ เพลงผสมสังคีตสัมพันธ์ของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ มีจำนวน ๑๑๖ เพลง เป็นการรวบรวมและจัดแบ่งประเภทของเพลง โดยใช้ ทำนองเพลง ชื่อเพลง และเนื้อร้องเป็นหลัก มีดังนี้ ๑. เพลงผสมสังคีตสัมพันธ์ ที่มาจากทำนองเพลงไทยทั้งหมด ทั้งเนื้อร้องและชื่อ เพลงจำนวน ๕ เพลง เจริญศรี ลาวดวงเดือน ไทรโยค ลาวครวญ โยสลัม ๒. เพลงผสมสังคีตสัมพันธ์ ที่นำทำนองมาจากเพลงไทยทั้งหมด มีการประพันธ์เนื้อร้อง ขึ้นใหม่ แต่ไม่เปลี่ยนชื่อเพลงจำนวน ๒๑ เพลง เพชรน้อย นางครวญ ราตรีประดับดาว ธรณีกรรแสง นกสีชมพู สารถี ทะเลบ้า คลื่นกระทบฝั่ง ท่าน้ำ เวสสุกรรม ม่านมงคล ใบ้คลั่ง ดอกไม้ไทร แม่ศรี สาริกาชมเดือน
สุดสงวน ครวญหา ลาวดวงดอกไม้ เส่เหลเมา ฝั่งน้ำ รำวงสร้อยแสงแดง ๓. เพลงผสมสังคีตสัมพันธ์ ที่นำทำนองมาจากเพลงไทยทั้งหมด มีการประพันธ์เนื้อร้อง ขึ้นใหม่ และเปลี่ยนชื่อเพลงให้คล้ายเพลงเดิมจำนวน ๒๔ เพลง กระแต คำหอม ดวงเดือน ดำเนินทราย จำปาทอง ดอกไม้เหนือ เสี่ยงเทียน เริงเพลงกลองยาว รักบังใบ อารมณ์หวัง พรพรหม พายเรือพลอดรัก ใต้แสงเทียน เสี่ยงเทียนคอยคู่ เสี่ยงเทียนเสี่ยงรัก พุ่มพวงดวงใจ บุหลันดั้นเมฆ บรเทศ เห่หารัก ทะเลรัก เห่เรือนหอ เรือนหอรอรัก ลออองค์ รำวงเทวีศรีนวล ๔. เพลงผสมสังคีตสัมพันธ์ ที่นำทำนองมาจากเพลงไทยทั้งหมด มีการประพันธ์คำร้องขึ้น ใหม่ และเปลี่ยนชื่อเพลงไปจากเดิมจำนวน ๖๑ เพลง กุหลาบงาม สาวก้อนแก้ว ผู้ชายนะเออ คู่เสน่หา ใจคู่ใจ ใจนาง ชั่วดีมีพยาน ปทุมมาลย์ ศุภมงคล สัญญาชีวิต ดีกันนะ บ้านนา ทำนายฝัน น้ำตาลใกล้มด บ่อโศก ไฟรักในทรวง ฟ้าแดง รวงทิพย์ อ้อยใจ รักสลาย รักที่หวัง รักจำพราก สายลมเย็น วอนเฉลย ปทุมไฉไล ลวงรัก เสียดายเดือน ยอดเทพี พี่รักจริง เดือนประดับใจ กิเลสคน ม่านฟ้า มนต์เทวี ร่มฉัตร จำปีฟ้า ช้อนนาง ไม่มีรัก หวงรัก ลมทะเล
ฝันหวาน เหลือจะเชื่อ นภาขาดเดือน กระท่อมรัก มัทรีร้องไห้ แม่ศรีเรือน เป็นสาวคราวเดียว ครูสอนรัก เพียงดวงใจ ราตรีที่สิ้นดาว รักเดียว สุดสายใจ สาวสุดสวย แอ่วสาวชมสวน อย่างอนนักเลย รำวงตอบรัก รำวงรื่นเริงสำราญ รำวงเพื่อนบ้านรื่นเริง รำวงชมสวรรค์ รำวงเกี่ยวข้าว รำวงขับกระบือ นิทราสวาท ๕. เพลงผสมสังคีตสัมพันธ์ ที่นำทำนองมาจากเพลงไทยแล้วแต่งเพิ่ม รวมทั้งเปลี่ยนชื่อ เพลงและประพันธ์เนื้อร้องใหม่จำนวน ๔ เพลง ห่วงรัก จุดไต้ตำตอ มนต์สวาท รำวงทุงยาเล ๖. เพลงผสมสังคีตสัมพันธ์ ที่แต่งขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยมีลักษณะความเป็นไทย เนื้อร้องเป็น บทพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราช กุมารี โดยวงดนตรีกรม ประชาสัมพันธ์ได้อัญเชิญมาใส่ทำนอง โดยนายเสถียร ปานคง สวนครัว บทเพลงสังคีตสัมพันธ์ของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ จึงเป็นบทเพลงที่ได้รับ การรังสรรค์ขึ้นจากครูเพลงผู้มีคุณูปการมากมายหลายท่านที่มากด้วยความสามารถเป็นผู้ วางรากฐาน ประดิษฐ์คิดค้น รวบรวมขึ้นเป็น องค์ความรู้และถ่ายทอดต่อกันมา อันจะ เป็นมรดกของประเทศชาติสืบไป
รายการแสดง รายการที่ ๑ สร้อยเพลง สองชั้น ขับร้อง สุรีย์พร กร่างสะอาด, วันดี สุขนวม, กิตติพล มั่นชาวนา สร้อยเพลง เป็นเพลงไทยเดิมอัตรา สองชั้น หน้าทับปรบไก่ มี ๕ จังหวะหน้า ทับ เป็นเพลงเก่าที่มีมาแต่เดิม ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง ใช้บรรเลงและขับร้องประกอบการแสดง โขนละคร ต่อมามีผู้แต่งเพลงสร้อยเพลงทางเปลี่ยนขึ้นอีกหลายทาง (เพลงทางเปลี่ยนเป็น เพลงเดิมที่เรียบเรียงขึ้นใหม่โดยใช้ลูกตกหรือโน้ตหลักของเพลงเดิม มีวัตถุประสงค์เพื่อ มิให้ต้องบรรเลงเพลงนั้นแบบเดิมหลาย ๆ เที่ยวทำให้เบื่อ) เมื่อมีการแต่งขยาย และ ตัดเพลงสร้อยเพลงเป็นเพลงเถา มีการตั้งชื่อใหม่ว่าเพลง “สร้อยมยุราเถา” ต่อมาล้น เกล้ารัชกาลที่ ๖ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทกลอนและนำมาขับร้องในเพลงสร้อยเพลง ซึ่งมี เนื้อร้องดังนี้ ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง คงจะต้องบังคับขับไส เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำกรำไป ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย เขาจะเห็นแก่หน้าค่าชื่อ จะนับถือพงศ์พันธุ์นั้นอย่าหมาย ไหนจะต้องเหนื่อยยากลำบากกาย ไหนจะอายทั่วทั้งโลกา รายการที่ ๒ ไร้รักไร้ผล ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน คำร้อง บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ ขับร้อง มัชฌิมา มีบำรุง เรานี้เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง ควรคำนึงถึงชาติศาสนา ไม่ควรให้เสียทีที่เกิดมา ในหมู่ประชาชาวไทย แม้ใครตั้งจิตรักตัว จะมัวนอนนิ่งอยู่ไฉน ควรจะร้อนอกร้อนใจ เพื่อให้พรั่งพร้อมทั่วตน
ชาติใดไร้รักสมัครสมาน จะทำการสิ่งใดก็ไร้ผล แม้ชาติย่อยยับอับจน บุคคลจะสุขอยู่อย่างไร รายการที่ ๓ โยสลัม ทำนอง เรียบเรียงจากเพลงไทย “โยสลัม” คำร้อง บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖เรื่อง “วิวาห์พระสมุทร” ขับร้อง วันดี สุขนวม, กิตติพล มั่นชาวนา ปากเป็นเอกเลขเป็นโทโบราณว่า หนังสือตรีมีปัญญาไม่เสียหลาย ถึงรู้มากไม่มีปากลำบากตาย มีอุบายพูดไม่เป็นเห็นป่วยการ ถึงเป็นครูรู้วิชาปัญญามาก ไม่รู้จักใช้ปากให้จัดจ้าน เหมือนเต่าฝั่งนั่งซื่อฮื้อรำคาญ วิชาชาญมากเปล่าไม่เข้าที ใครช่างพูดพลิกแพลงเหมือนแรงมาก คนนิยมลมปากมากเจียวพี่ ถึงรู้น้อยถ้อยคำให้ขำดี คงเป็นที่สมคะเน ที่เฉโก รายการที่ ๔ ม่านมงคล ทำนอง ธนิต ผลประเสริฐ ปรับทำนองจากเพลงไทย “ม่านมงคล สองชั้น” คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์ ขับร้อง ปุณยวัฑน์ ไวยสาวงศ์ รักซ้อนซ่อนรักก่อนอยู่ภายใน เกิดรักมาซ้อนใจไห้หวน วาสนาไม่ถึงเธอละเมอครวญ อกเอยรักเคยรัญจวนหวนไห้ใจอาวรณ์ ถูกเขาแย่งรักจากฉัน เพราะบุญน้อยไม่ทัน จึงเฝ้าฝันมิได้หลับนอน อกเอ๋ยหัวใจร้าวรอน ขอลาจรทรวงสะท้อนรักจางห่างกัน
ตรอมตรมใจนัก เมื่อสุดที่รักจากฉัน ดังมีเหมือนม่านกั้นไว้ให้หมอง ในชาตินี้คงไม่สมฤดีที่ปอง ดวงใจร่ำร้องเพียงเจอะนวลน้องสักหน โอ้สวรรค์โปรดเห็นใจจงได้ดล กลับเป็นเหมือนม่านมงคล ผลส่งดังใจหมาย ชาตินี้พี่รักฝากฝัง แม้ความรักเจ้ายัง พี่จะหวังไปจนชีพวาย รายการที่ ๕ สาริกาชมเดือน ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน ปรับทำนองจากเพลงไทย “สาริกาชมเดือน สองชั้น” คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล ขับร้อง ดาริกา นิ่มพิจารณ์ งามแสงเดือนสว่างสีนวลกระจ่างเปล่งรัศมีสีงามอำไพ ยิ่งพิศยิ่งเพลินงามเหลือเกินจันทราน่าชื่นใจ เสียดายอยู่ไกลสูงสุดนภาไม่ลอยลงมาให้ชม ได้แต่จ้องมองละเมอเพ้อพูดพร่ำรำพัน มุ่งใจใฝ่ฝันอาจเอื้อมชมจันทร์นั้นก็คงไม่สม ไม่เคยนึกเลยว่าได้เชยชม คงไม่สมอารมณ์ปอง ตั้งจิตใจจองจะหมองหม่นไหม้ อย่าอาจเอื้อมชมดวงเดือนเหมือนกระต่ายต่ำต้อยเลย ต้องอดชวดเชยอย่ามุ่งนักเลยหวังจะเชยชื่นใจ ระกำช้ำทรวงเพราะดวงเดือนไกล สุดสอยด้วยไม้มาชม ไม่สมควรคู่อยู่ใกล้กับเดือน
รายการที่ ๖ สุดสงวน ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน ปรับทำนองจากเพลงไทย “สุดสงวน สองชั้น” คำร้อง สุรัฐ พุกกะเวส ขับร้อง พศภพ บัวสรวง โอ้เจ้าสุดสงวน น้องรัญจวนใจพี่ รักจักปองแสนสุดปองขวัญชีวี รักเจ้าแต่พี่สุดชม รักนวลสงวนต้องกลัวน้องจักตรม พี่หักอารมณ์พี่ต้องสงวนนวลชม หักความรักข่มดวงใจ เพราะพี่รักจริงเจ้า กลัวน้องจะเศร้าเจ้าอย่าอาลัย พี่สงวนนวลเจ้า เจ้าเห็นใจ สงวนใจไว้ให้พี่นะแก้วตา สงวนตัวจนกว่าพี่มาชม รายการที่ ๗ รักบังใบ ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน ปรับทำนองจากเพลงไทย “บังใบ สองชั้น” คำร้อง ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ขับร้อง สุรีย์พร กร่างสะอาด กามเทพหลอกลวง เสียบศรปักทรวงให้ห่วงหา ให้รักแล้วใยมาริดรักราแรมไกล รักของข้าดั่งบัวบังใบ บังมิให้ใครเห็น เฝ้าครวญหวนทุกเช้าเย็นตรอมตรม สุดหักสุดหายหัวใจมิวายระทม สุดตรอมตรมใจ ยิ่งคิดให้โหยหา ต้องบังรักไว้ไม่กล้าบอกใคร เย็นย่ำสุริยาตะวันจากตาพามืดมิด
โอ้ช่างเหมือนดวงจิตมิดมืดยามรักไกล น้ำตาตกตามตะวัน นึกแล้วหวั่นพรั่นใจ อกเอ๋ยทำฉันใดเล่าเอย คู่ชื่นเคยเชยรักร้างเลยแรมรา ยิ่งพาให้หนาวไฉน ปองรักอย่างบัวบังใบ ต้องช้ำหัวใจเรื่อยมา รายการที่ ๘ คำหอม ทำนอง เวส สุนทรจามร ปรับทำนองจากเพลงไทย “ลาวคำหอม” คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล ขับร้อง ณัฐดนัย วงศ์วรสันต์ ลมโบกหวนกลิ่นหอม หอมชวนเด็ดดอม คำหอมเจ้าเอย กลิ่นนี้พี่เคย เคยได้แนบเขนย อกเอ๋ยหวนคะนึง เพียงแต่กลิ่นล่องลม ชื่นชมซาบซึ้ง ชวนให้คิดติดตรึง ใจประหวัดคะนึงถึงถึงสาวเจ้า ชวนให้ใจพี่เหงาจำว่ากลิ่นเจ้า เศร้าอยู่ในใจ เนื้อเจ้าอวลกลิ่นประทินเดียวกัน ขวัญเคยแนบขวัญ รักกันชิดใกล้ หอมเอยเคยชื่นใจ ใดไม่ซึ้งถึงอารมณ์ ขวัญพุ่มปทุมมา กลีบบัวยั่วตาพลิ้วพากระเพื่อมลม ผ่องศรีที่พี่ชม สีนวลชวนชื่นอารมณ์ ดุจดังสีแพรเจ้าห่ม ปิดถันกันลมซ้ำชมให้เศร้าใจ เจ้าเอยเจ้าคำหอมเจ้าเนื้อหอมหอมชวนใคร่ ต้องจิตเตือนใจ ยิ่งพิศไปชวนให้ตระกอง โอ้มือพี่เคยโลมเล้า สาวเจ้าเคยเอามือป้อง แต่ไม่พ้นมือพี่ต้อง หวงยิ่งกว่าทองแต่น้องยังให้ชื่นใจ ยอดชู้คู่เชย ขวัญเอยอย่าเลยจากไป โอ้คำหอมเอยเคยชิดใกล้ อีกนานเท่าไรขวัญใจจะกลับมา ยอดชู้คู่ชม ภิรมย์ชมชื่นอุรา เพื่อนชายร้อยคนมากล้นค่า ไม่ชื่นอุราเหมือนเจ้าเพื่อนชม
รายการที่ ๙ ดอกไม้เหนือ ทำนอง เวส สุนทรจามร ปรับทำนองจากเพลงไทย “ดอกไม้เหนือ” จำเนียร ศรีไทยพันธ์ คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์ ขับร้อง ภิปราย จิมีสิก นำหมู่หญิง ญ.) แสนเพลินเดินเล่น ไม้งามได้เห็นชื่นเย็นหอมไกล โอ้ว่ากลิ่นจรุงใจ มวลดอกไม้วิไลงามสิ้น ฝูงภมรบินร่อน เคล้าคลอเกสรเที่ยวจรหากิน ได้ดั่งใจถวิล ได้ดื่มกินแล้วบินแหนงหน่าย ดังเช่นหญิงยามสาว สวยงามพริ้งเพรายั่วเย้าใจชาย เขาชมสมหมาย สิ้นสลายกายใจสิ้น ผู้ชายก็ราไม่มาอาจิณ ลืมดังภมรบินไกล ทิ้งรักรอนร้องไห้ ขอเตือนดอกไม้จดจำไว้ให้ดี หมู่ ญ.) เชิญเชิญเชิญกัน ร่วมสุขสันต์วันรื่นเริง ร่วมบันเทิงให้คลายทุกข์สุขฤทัย ร้องเพลงเดินแสนเพลินดวงใจ สำราญกันไปเหล่าดอกไม้เหนือเอย เชิญเชิญเชิญกัน ร่วมสุขสันต์วันรื่นเริง ร่วมบันเทิงให้คลายทุกข์สุขฤทัย ร้องเพลงเดินแสนเพลินดวงใจ สำราญกันไปเหล่าดอกไม้เหนือเอย รายการที่ ๑๐ รำวงเริงเพลงกลองยาว ทำนอง ธนิต ผลประเสริฐ ปรับทำนองจากเพลงไทย “พม่ากลองยาว” คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์ ขับร้อง สุรีย์พร กร่างสะอาด, นฤมล สมหวัง, ณัฐดนัย วงศ์วรสันต์, พศภพ บัวสรวง
หมู่ ญ.) ยามตะวันตกลับ อับแสงมัวตา หมู่ ช.) ยามดวงเดือนส่องฟ้า แจ่มขาวพราวพรรณ หมู่ ญ.) สุขสนุกสำราญไปตามเพลง หมู่ ช.) สุขสนุกครื้นเครงกลางดวงจันทร์ หมู่ ญ.) ยามเย็นตะวันลับไปกับตา หมู่ ช.) ยามดึกก็จันทราจากไปพลัน พร้อม) เพลงนี้ไม่ผันแปรไป หมู่ ญ.) เพลงกลองยาวกล่อมขวัญสุขสันต์เริงรื่น หมู่ ช.) เพลงกลองยาวกล่อมคืนกล่อมวันฝันใฝ่ หมู่ ญ.) หากจะขาดแสงเดือนดาราส่อง หมู่ ช.) มืดสนิทมิดมองไม่เท่าไหร่ หมู่ ญ.) เราร่วมสุขสคราญสราญรมย์ หมู่ ช.) มีเพลงกล่อมอารมณ์กล่อมดวงใจ หมู่ ญ.) โลกนี้วิไลแพรวพราว พร้อม) โปรดฟังบรรเลงเพลงกล่อมดวงฤดี นี่ละกลองยาว... มากมายเป็นราว ตีแข่งกันระนาวเร่งเร้าบรรเลง... แม้ใครเศร้าอารมณ์ระทมเหงา ฟังเพลงแบบกลองยาวครั่นครื้นเครง คลายทุกข์ ด้วยเพลงกลองยาว รายการที่ ๑๑ ฟ้าแดง ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน ปรับทำนองจากเพลงไทย “มอญอ้อยอิ่ง สามชั้น” คำร้อง ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ ขับร้อง เจษฎา พลอยมอญ สนธยาฟ้าแดง สุรีย์ร้อนแรงโรยอ่อนรอนแสงหม่นมัว สกุณาเรียกหารังตัว ชะนีเพรียกผัว รัวเร้าร่ำกำสรวล โอ้ชีวิตชีวิตจิตใจ มันหนาวเย็นเป็นไข้ พิไรพิลาปครวญ
สิ้นตะวันทรวงศัลย์จาบัลย์รัญจวน เห็นลางพลบพรางร่างนวล ให้โหดหวนซวนเศร้า สิ้นแสง สิ้นสีโศลกแดงแฝงแดนใจเรา สายัณห์เงื้อมเงา ลบลางสล้างเสลา จากห้วงหาวพราวใจ ฟ้าแดง ฟ้าแดงผันแปรเปลี่ยนแปลงแผลงไป ตราบอาสัญฉันยังฝันใฝ่ จูบแดนฟ้าอาลัย ฝังรอยรักใคร่ฝากเธอ รายการที่ ๑๒ หวงรัก ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน ปรับทำนองจากเพลงไทย “ลาวเจ้าซู สองชั้น” คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์ ขับร้อง ปภวรินทร์ เจริญผลธนกานต์ ของของใครของใครก็ห่วง ของใครใครก็ต้องหวง ห่วงใยรักใคร่ถนอม ใครจะชิงของใครใครยอม ถึงจนอดออม ไม่ยอมขายให้ใคร รักของใครของใครก็ห่วง รักใครใครก็ต้องหวง ห่วงคนรักดั่งดวงใจ ใครจะยอมยกไปให้ใคร รักใครก็ใครต่างหวงไว้ครอบครอง เธอเป็น ของรักของหวงที่ห่วงอาลัย เป็นดวงใจฉันจึงห่วงใยใฝ่ปอง กายและใจของเราต่างเป็นเจ้าของ หากไม่ครอบครองเดี๋ยวของรักต้องหลุดลอยไป รักจริงถึงห่วง
ไม่ใช่หลอกลวงรักจริงถึงห่วงดวงใจ จะเป็นจะตายก็ไม่ยอมให้ใคร แม้ใครชิงแย่งไปฉันยอมตายเอย รายการที่ ๑๓ ลมทะเล ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน ปรับทำนองจากเพลงไทย “มอญรำดาบ สองชั้น” คำร้อง ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ ขับร้อง ธนพล ศรีรัตน์ รื่นลมทะเลเห่ระโหย กล่อมขวัญอันล้าโรยอ่อนโอยโอยอาลัย เฮเห่เฮเฮ้เฮเฮเห่ มันเห่มันไกวกล่อมไป โลมใจที่ร้องไห้อาลัยอุราร้าง นอนเสียดวงใจ เพลินเอ๋ยเพลินไปในฝันพราวพร่าง นิทราเถิดหนาใจอย่าครวญคราง ฝืนอารมณ์ครางลืมเพื่อนเลือนร้างห่างลาไกล เอ้า เห่เฮเฮ้เห่เห่ ลมทะเลเห่ไกลไป อกเอ๋ยอกใจ หลับตาหลับใจไม่ลงหรือเล่า มนต์แห่งความหลังยังร่าย ลบเห่หายคลายเบา รักเรียกร้องเรา ร้างเศร้าทึ้งเอาทวงเอาชีพสลายวายปราณ
รายการที่ ๑๔ น้ำตาลใกล้มด ทำนอง เวส สุนทรจามร ปรับทำนองจากเพลงไทย “เขมรเขียว สองชั้น” คำร้อง สุรัฐ พุกกะเวส ขับร้อง เสฐียรพงษ์ กลั่นแตง น้ำตาลใกล้มด ใครอดงดได้ ดวงใจไหนจะเว้นให้ต้องใจผูกพัน หญิงและชายเมื่ออยู่ใกล้กัน ต้องเกิดกระสันสุดกลั้นใจภิรมย์ น้ำตาลใกล้มด สุดจะอดสุดที่มดจะข่ม มองดูรู้ในอารมณ์ รสหวานรอให้ชม ต้องชมภิรมย์หทัย ไหนเลยจักไม่เชยชิดก็ผิดไป ชื่นจิตใจให้ฉ่ำทรวง อันความรัก แรงนักสุดจะหักใจหวง เฝ้าชะแง้แลพิศติดเตือน อย่าเหมือนดังมดแฝงพวงมะม่วง ปองประโลมหวังชมผลพวงตราบร่วงสู่ดิน แม้น้ำตาลใกล้มดอดกิน สุดสิ้นเจ็บจินต์ตรมใจ รายการที่ ๑๕ รักที่หวัง ทำนอง ธนิต ผลประเสริฐ ปรับทำนองจากเพลงไทย “จีนลั่นถัน สองชั้น” คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์ ขับร้อง มรุธิดา บุญมงคล เหมือนมีมนต์เข้ามาดลใจ เฝ้ารักใคร่ปักใจตัวเขา ไม่รู้จางห่างหาย ถึงนอนหลับฝันทุกวันไม่วาย
โอ้ใจหนอใจ หัวใจฉันเป็นอะไร ช่างรักเขาเสียง่ายดาย แสนอายใจยิ่ง เขาจะเป็นอย่างเราบ้างไหม ที่รักใคร่ด้วยดวงใจจริง อยากรู้จริงว่าใจ เขามีคู่หวังหรือยังหรือไร โอ้ใจหนอใจ แม้ใจเขายังเดียวดาย ที่หวังไว้คงสมใจ รักได้ดังหวัง พระจงช่วยโปรดสักครั้ง ขอพรให้ได้ดังหวัง ให้ได้ดังหวัง ให้ได้ดังหวัง ความหวังฉันคงสมใจ รายการที่ ๑๖ ผู้ชายนะเออ ทำนอง ธนิต ผลประเสริฐ ปรับทำนองจากเพลงไทย “ขอมทรงเครื่อง สองชั้น” คำร้อง สุรัฐ พุกกะเวส ขับร้อง ตรีรดา สิงห์คาร, ดาริกา นิ่มพิจารณ์, ปภวรินทร์ เจริญผลธนกานต์ ผู้ชายมีหลายอย่าง มีท่ามีทาง ต่างกันสุดพรรณา ทุกคนล้วนแต่ร้อยเล่ห์กลจนรู้ท่า เริ่มเกี่ยวเกี้ยวพา ชอบหากำไรทุกที หากใครหลงในวจี เสียทีจักต้องเศร้าใจ ผู้ชายมีหลายท่า ยามแรกเข้ามา พูดจาเกี้ยวพาดูเร็วไว พิศดูแล้วช่างแสนอดสูดูไม่ได้ ชอบเอาแต่ใจ ช่างไร้ความอายเหลือทน ผู้ชายนะเออชอบกล ทุกคนช่างแปลกสิ้นดี
ผู้ชายมีหลายเล่ห์ ใจต่ำเกเร อุบายถ่ายเทพันทวี ใช้คำเพ้อพร่ำซ้ำให้หลงมิคงที่ แรกฝากไมตรีเสกสรรวจีหวานคำ แต่พอสมใจเขาทำ ให้เราต้องพร่ำคร่ำครวญ รายการที่ ๑๗ ครูสอนรัก ทำนอง ธนิต ผลประเสริฐ ปรับทำนองจากเพลงไทย “ยะวาเร็ว สองชั้น” คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์ ขับร้อง ทัศนัยภรณ์ โมรีรัตน์, ธนพล ศรีรัตน์ ช.) งามแท้แม่เอย อยากจะเอ่ยคำรักดูสักครา ญ.) คนอะไรดูรึมาพูดจา ช.) พูดกันจริงจริง ญ.) กลอกกลิ้งไปมา ช.) ไม่ลวงดวงตา ญ.) เกี้ยวพากันมิอาย ช.) แสนงาม ญ.) ไหนงาม ช.) น้องงาม ญ.) ไหนงาม ช.) ทั้งกาย ญ.) หนใดตรงไหนจงบอกมา ช.) ทั้งกายาสวยงามตรึงใจ ญ.) หนึ่งกว่าใครใคร ช.) ที่หนึ่งเกินใคร ญ.) หลงคารมช้ำตรมใจตาย ช.) เชื่อเถอะดวงใจหลอกกันทำไม ญ.) น้องยังอ่อนความรักไม่เข้าใจ ช.) มะมาสอนให้จำไว้เถอะแก้วตา มา มา มาซิ มามะ ญ.) รักเธอนั่นพิษมันยิ่งใหญ่ หวั่นเกรงรักให้หมองไหม้ตรมน้ำตา ช.) ลองดูเถิดรักเกิดคุณค่า โอ้ใจน้องอย่าหวั่นใหวจงได้ลอง ลอง ลอง ลองหน่อยน่า ญ.) จะลองดูไป ช.) รักประคองน้องมาเคียงกาย ญ.) ต่อไปยังไง ช.) หลับตาเป็นไร ญ.) น้องจะดูซิครูทำไง
ช.) ก็ครูยังอาย ญ.) อย่าลองเลยชาย ช.) สอนกันยากความรักมาจากใจ ญ.) มะมาสอนให้จำไว้จงอย่าลืม รายการที่ ๑๘ รำวงรื่นเริงสำราญ ทำนอง ธนิต ผลประเสริฐ ปรับทำนองจากเพลงไทย “ค้างคาวกินกล้วย” คำร้อง สุรัฐ พุกกะเวส ขับร้อง มรุธิดา บุญมงคล, ทัศนัยภรณ์ โมรีรัตน์, เจษฎา พลอยมอญ , ธนพล ศรีรัตน์ พร้อม) รื่นเริงสำราญสบาย ทั้งใจและกายสนุกสุขศานต์ หนุ่มสาวถึงคราวสราญ ทุกคนชื่นบานสำราญฤทัย หมู่ ช.) คนดีของพี่ก็มา สวยดังดาราติดตาตรึงใจ เชิญรำแม่งามวิไล เสียแรงตั้งใจ คงได้ชื่นชม หมู่ ญ.) โปรยปรายยิ้มพรายมองมา เพ่งพิศติดตาใบหน้าคายคม เพลินใจเร้าในอารมณ์ น่ารักน่าชมงามสมจริงเอย รายการที่ ๑๙ จุดไต้ตำตอ ทำนอง ธนิต ผลประเสริฐ ปรับทำนองจากเพลงไทย “ลาวล่องน่าน สองชั้น” คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์
ขับร้อง ตรีรดา สิงห์คาร, เจษฎา พลอยมอญ, ณัฐดนัย วงศ์วรสันต์ ช.๑) พบพอดี นี่เธอจะไปแห่งไหน จะไปที่หนใด ผมนี้ใคร่จะติดตามครับ ญ.) แปลกจริงเออ พบเธอเป็นต้องลวนลาม อยากจะขอติดตาม ฉันไปที่แห่งใด ช ๑) เห็นเธอเดิน คนเดียวจะเปลี่ยวอุรา หากซื้อข้าวของมา ผมคิดว่าช่วยถือให้ไงล่ะครับ ญ.) อุ๊ย อย่าเลยคุณ ผลบุญจะติดตามไป ช.๑) โปรดอย่าคิดสิ่งใด ผมตั้งใจช่วยจริง ญ.) งั้นคุณ ก็จงตามฉันมา ช.๑) แหม โชคชะตา ผมนี้ช่างดีจริง ญ.) ฉันหวังว่า คุณคงทำตามทุกสิ่ง ช.๑) ผมขอบอกจริงจริง ผู้หญิงกับผมมันถูกกันน่ะ ญ.) ฉันตั้งใจ คิดไว้จะไปซื้อของ จะไปเที่ยวซื้อทอง ซื้อทองรูปพรรณ ช.๑) ส่วนตัวผม ขอรออยู่ข้างนอกนั้น เจ้าของร้านไม่ถูกกัน เพราะเรื่องมันมีมากมาย ญ.) งั้นเร็วไว ตั้งใจจะไปดูหนัง ช.๑) แหมออกจะเบื่อเสียจัง เพราะเคยไปนั่งแล้วตาลายนะครับ ญ.) จะไปหา ซื้อผ้ากันอีกมากมาย ช.๑) เบียดคนร้อนแทบตาย ขออย่ากรายไปดู ญ.) อืม ฉันจะดู รองเท้าสักคู่ดีไหม ช.๑) เชื่อพี่เถอะขวัญใจ ไม่มีสไตล์แปลกหรูเลย ญ.) ฮึ ถ้าอย่างนั้น หากันที่อื่นลองดู ช.๑) อย่าเลยน่ะโฉมตรู ขออย่าดูอีกเลย ญ.) งั้นคุณ คงจะหิวหรือยัง ช.๑) อ๋อยัง ความหิวช่างเมินเฉย ญ.) น้อยหรือนั่น ผลัดคำเรื่อยไปที่เอ่ย ช.๑) พี่ขอบอกทรามเชย ไม่เคยจะหิวสักครา ญ.) งั้นคุณจง รอคอยอยู่ที่ตรงนี้ หากว่าข้าวของมี ขอจงช่วยทีเถิดหนา ช.๑) อย่าไปนาน แสนนานจนเบื่อระอา ญ.) อีกประเดี๋ยวก็กลับมา ช.๑) จ้ะขวัญตา เชิญซิจ๊ะ เร็วเร็ว นะจ๊ะ ญ.) จ้ะ ช.๒) เอ๊ะ ไงเกลอ ไม่ได้เจอะเจอกันนาน อยู่เป็นสุขสำราญ ครอบครัวทางบ้านสบายดีหรือ ช.๑) โอ๊ย เลิกกันแล้ว ถึงแจวมาเตร่แถวนี้ แต่เกลอเอ๋ยโชคดี แหม พบเมื่อกี้ยอดเลย ช.๒) เอ๊ะใครกัน เธอคงผ่องพรรณน่าดู ช ๑) แต่รูปร่างโฉมตรู เธอคงเจ้าชู้เก่งจังเลย
ช.๒) นี่อยู่ที่ไหน รักกันเมื่อไหร่เกลอเอ๋ย ช ๑) แม่ยอดชู้คู่เชย รักกันมาเลยกว่าสามปีแล้วล่ะ ช.๒) ไหนไหน ช.๑) โน่นไง เธอกำลังรีบมา ช ๒) นี่ ศรีสุดานะ คนรักฉันน่ะซี ช ๑) ฮ้า จริงหรือนั่น เธอรู้จักกันหรือนี่ ช.๒) นี่แหละยอดชีวี คนนี้ที่หวังแต่งงาน ช.๑) อ้าว งั้นตัวเธอ คู่หมั้นของเกลอฉันน่ะซิ ช ๒ ญ.) ชอบกันกว่า ๓ ปี รักกันมานี่ตั้งนาน ถ้ายังไง ขอเชิญไปช่วยแต่งงาน ช.๑) อาจไม่พบอีกนาน โอ๊ยจะพานเป็นลม เอ๊ย จุดใต้ตำตอเข้าแล้ว รายการที่ ๒๐ รำวงทุงยาเล ทำนอง ธนิต ผลประเสริฐ ปรับทำนองจากเพลงไทย “ทุงยาเล” คำร้อง สุรัฐ พุกกะเวส ขับร้อง เจษฎา พลอยมอญ, ปุณยวัฑน์ ไวยสาวงศ์, พศภพ บัวสรวง, ภิปราย จิมีสิก, สุรีย์พร กร่างสะอาด, ดาริกา นิ่มพิจารณ์ สร้อย) ทุงยาเล เล้ เล เล เล้ สุขใจ ยามปลื้มลืมทุกสิ่งใด ขับลำนำร้องรำกันไป ชื่นหทัยหาใครเทียมทัน ช.) แสงจันทร์นั้นเป็นสื่อดลใจ นะให้เราชิดใกล้น้องจงได้เมตตา ญ.) จันทร์ฉายส่องมา ช.) เห็นดวงหน้านวลน้องผ่องพราย ญ.) เจ้าชู้ ผู้ชาย เอ้ว! หน้าไม่อายดูรักง่ายจริง พร้อม) เอ้าว่าไซยาบาเล่ เอ้าว่าไซยาบาเล่ เล เล้ เล เล เล เหล่ ...(สร้อย)... ช.) หวังปองเหมือนเดือนผ่องปฐพี ญ.) แต่ดวงรัชนีนั้นมีหรี่แรมหาย ช.) แต่รักของพี่ชาย นั้นไม่คลายแรมหายสิ้นไป
ญ.) ยามร้างห่างไกล น้องหวั่นใจกลัวรักจะร่วงรา พร้อม) เอ้าว่าไซยาบาเล่ เอ้าว่าไซยาบาเล่ เล เล้ เล เล เล เหล่ ...(สร้อย) ช.) ขวัญใจรักพี่ไม่กลับคืน ญ.) หวั่นกลัวรักชื่นนั้นจะขื่นภายหลัง ช.) ไม่คิดจืดจางน้องจงฟังพี่รักตลอดไป ญ.) กลัวหลงเสน่ห์ใคร ช.) เอ้า พี่ถอดใจมอบไว้ให้เจ้าเอย พร้อม) เอ้าว่าไซยาบาเล่ เอ้าว่าไซยาบาเล่ เล เล้ เล เล เล เหล่ ...(สร้อย)... รายชื่อนักร้อง ขับร้องชาย เจษฎา พลอยมอญ ณัฐดนัย วงศ์วรสันต์ ปุณยวัฑน์ ไวยสาวงศ์ ธนพล ศรีรัตน์ เสฐียรพงษ์ กลั่นแตง กิตติพล มั่นชาวนา พศภพ บัวสรวง ขับร้องหญิง ภิปราย จิมีสิก สุรีย์พร กร่างสะอาด วันดี สุขนวม ปภวรินทร์ เจริญผลธนกานต์ มรุธิดา บุญมงคล ดาริกา นิ่มพิจารณ์ ทัศนัยภรณ์ โมรีรัตน์ มัชฌิมา มีบำรุง ตรีรดา สิงห์คาร
รายชื่อนักดนตรี ระนาดเอก รินรภัทร์ รุ่งเรือง, ชฤทธิ์ ตรีหิรัญ ระนาดทุ้ม เกียรติศักดิ์ ดีชัง จะเข้ วิศรุต แซ่จุ่ง ซอด้วง ณัฏฐวิต จิยะจันทน์ ซออู้ สวรรยา รุ่งมณีพิพัฒน์ ขลุ่ยเพียงออ ชูชาติ อ้วนล่ำ กลองแขก มนตรา หมู่เย็น, กฤติน ศิริพุฒ ฉิ่ง อรรฆเดช เข็มเฉลิม เปียโน ตฤณภัท แก้วเขียว ไวโอลิน คมสัน มุกดากิจ กีต้าร์ไฟฟ้า ศุกร์สวัสดิ์ ถาวโรฤทธิ์, ถิรวัฒน์ แก้วกำเนิด กีต้าร์เบส หทัยทิพย์ ทัศน์ยิ่งยง แซ็กโซโฟน อัลโต้ ณัฐอร เลาหวงศ์เพียรพุฒิ, กวิทสร ระดาเขต แซ็กโซโฟน เทเนอร์ จรรยพงศ์ สวัสดิเวทิน ทรัมเป็ต วรสิน เพ็ชรประสาร, วิศรุต นวลแก้ว ทรอมโบน ธณกร หอมเนียม กลองชุด ภาคภูมิ วัฒเวียงคำ เพอร์คัชชั่น ศรัณย์ พรปรีชา ผู้อำนวยเพลง อธิปไตย พรหมสุรินทร์ ผู้ควบคุมวง ภิปราย จิมีสิก, บุญเอิบ สุธา, ณัฏฐวิต จิยะจันทน์ ฝ่ายประสานงาน วรสิน เพ็ชรประสาร ฝ่ายข้อมูลและสูจิบัตร วิศรุต แซ่จุ่ง
สํานกบรหารศลปวฒนธรรมจฬาลงกรณมหาวทยาลย rtCulture @cuartculture CUArtCulture cu.art.culture 099-328-1616 cuartculture@chula.ac.th www.cuartculture.chula.ac.th

Turn static files into dynamic content formats.

Create a flipbook
Issuu converts static files into: digital portfolios, online yearbooks, online catalogs, digital photo albums and more. Sign up and create your flipbook.