กลุ่มพลังทางสังคม: อันโตนิโอ กรัมชี่กับตัวแสดงทางการเมือง

Page 1

332

กลุ่มพลังทางสังคม: อันโตนิโอ กรัมชี่กับตัวแสดงทางการเมือง Social Forces: Antonio Gramsci and his conception of political actors วัชรพล พุทธรักษา ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร E-mail: wb515@york.ac.uk บทคัดย่อ บทความนี้มุ่งนําเสนอแนวความคิดทางการเมืองของกรัมชี่เกี่ยวกับตัวแสดงทางการเมืองและความสัมพันธ์ ระหว่างตัวแสดงต่างๆ ในมุมมองของกรัมชี่นั้นตัวแสดงทางการเมืองไม่ได้มีความหมายในลักษณะของการเป็นตัว แสดงที่หยุดนิ่งทั่วไป แต่เขามองมันในฐานะของความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างเป็นวิภาษวิธี กรัมชี่มักจะใช้คําว่า “กลุ่ม พลังทางสังคม” สลับไปมาในความหมายเดียวกันกับกลุ่มทางสังคมและชนชั้น ซึ่งกลุ่มพลังทางสังคมนั้นประกอบไป ด้วยสองกลุ่มหลักคือกลุ่มพลังของชนชั้นปกครองและกลุ่มพลังของชนชั้นผู้ถูกกดขี่ ทั้งนี้กรัมชี่เสนอว่ากลุ่มพลังต่างๆ นั้นจะมีการท้าทายและสร้างดุลยภาพของอํานาจกับกลุ่มพลังต่างๆเพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะของ “การครองอํานาจนํา” โดยใช้กลยุทธ์ทางการเมืองต่างๆ เพื่อเป็นการทําความเข้าใจสถานการณ์ดังกล่าวผู้เขียนได้นําเสนอแนวคิดของกรัมชี่ ในเรื่อง การทําสงครามยึดพื้นที่ทางความคิด การปฏิวัติเงียบและแนวคิดเรื่องการวิเคราะห์สถานการณ์ การนําเสนอ แนวคิดทางการเมืองของกรัมชี่ดังกล่าวนั้นเป็นการ ปูพื้นทางทฤษฎีเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจศึกษาความคิด ทางการเมืองและสังคมของกรัมชี่ในการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้ต่อไป คําสําคัญ: กรัมชี่, ตัวแสดงทางการเมือง, กลุ่มพลังทางสังคม, ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มพลัง

ABSTRACT This paper aims to provide some crucial Gramscian conception of political actors and their social relations. Following Gramsci, political actors in his political and prison writings can be seen as dialectical social relations rather than any static traditional perspective on political actors. In Gramsci thought, there are two major ‘social forces’-the term he interchangeably uses with ‘social groups’ and ‘social classes’- included dominant/ruling and subaltern/subordinate forces. Gramsci argues that in order to achieve the ‘hegemonic position’ in a given society, each social forces always challenge and balance their class forces via many political strategies. In order to grasp this matter, I offer Gramscian notions of ‘war of position’, ‘passive revolution’, and ‘analysis of situations’. In short, this article has grounded some important Gramscian political concepts which pave the way for those who interested in further study on Gramsci’s social and political theories.


333 Key words: Gramsci, Political actor, Social forces, Relations of force

1. กลุ่มพลังทางสังคม (Social Forces) งานเขียนของกรัมชี่ในสมุดบันทึกจากคุกนั้นได้กล่าวถึงประเด็นต่างๆมากมายแต่แก่นสําคัญที่กรัมชี่เสนอก็ คือปัญหาของสังคมทุนนิยมและการแก้ปัญหาเหล่านั้น และหนึ่งในประเด็นที่สําคัญก็คือการอธิบายความสัมพันธ์ของ “ตัวแสดง” ต่างๆในสังคมทุนนิยม ซึ่งกรัมชี่ได้นําเสนอในงานเขียนของเขาในหลายคํานิยามด้วยกันทั้งนี้เพื่อพยายาม หลีกเลี่ยงการถูกเซ็นเซอร์จากผู้คุมนั่นเอง กรัมชี่ได้เลือกใช้คําที่หลากหลายแทนหน่วยในการวิเคราะห์ (Unit of analysis) ของเขา เช่น กลุ่มพลังทางสังคม (Social forces) ชนชั้นปกครอง (Dominant class) กลุ่มชนที่อยู่ใต้ อํานาจ/ถูกกดขี่ (Subaltern/Subordinate) (Hoare and Nowell Smith, 1971: xiv; Landy, 1994: 21-26) ใน งานเขียนของกรัมชี่นั้นเขามักจะใช้คําว่า “กลุ่มพลังทางสังคม” (Social forces) ในความหมายเดียวกันกับ “กลุ่ม ทางสังคม” (Social groups) แทนคําว่า “ชนชั้น” (Classes) และใช้คําเหล่านี้แทนกันไปมาอยู่ตลอดเวลา (Green, 2002) นิยามของกลุ่มพลังทางสังคม (Defining Social Forces) สิ่งที่กรัมชี่ส นใจเป็นหลักในทฤษฎีการเมืองของเขาเกี่ยวกับตัวแสดงทางการเมืองนั้นไม่ใช่พฤติกรรม ทางการเมือง (Political behaviour) ของปัจเจกบุคคลในระบบการเมือง แต่เขาสนใจที่ความสัมพันธ์ทางสังคม (Social relations) ของกลุ่มพลังทางสังคมหรือชนชั้นต่างๆมากกว่า อย่างไรก็ตามแนวความคิดเรื่องตัวแสดงทาง การเมื อ งของกรั ม ชี่ นั้ น มองว่ า ชนชั้ น ทางสั ง คมนั้ น ประกอบไปด้ ว ยสองชนชั้ น หลั ก ด้ ว ยกั น คื อ ชนชั้ น ปกครอง (Dominant หรือ Ruling class) และชนชั้นผู้ถูกปกครองหรือชนชั้นผู้ถูกกดขี่ (Subaltern/Subordinate หรือ Dominated class) (Nemeth, 1980: 86; และโปรดดู Pozzolini, 1970: 67–75) ชนชั้นปกครอง (The Ruling Social Classes) ในทัศนะของกรัมชี่นั้นชนชั้นปกครองก็คือกลุ่มคนที่มีความสามารถในการเป็น “รัฐ” ได้(Gramsci, 1971: 53, Q25§598) กล่าวคือเป็นกลุ่มของผู้คนที่สามารถเข้าถึงการใช้อํานาจบังคับและสร้างความยินยอมพร้อมใจเหนือ ชนชั้นผู้ถูกปกครองได้ กรัมชี่อธิบายว่าชนชั้นปกครองนั้นมิได้มีความปรารถนาเพียงที่จะสร้างการนํา (Lead) เหนือ กลุ่มหรือชนชั้นอื่นๆเท่านั้น แต่ยังต้องการครอบงํา (Dominate) ผู้คนให้ได้อีกด้วย ดังนั้นชนชั้นปกครองจึงมีความ

98

Gramsci, 1971: 408, Q7§24 (ตลอดทั้งหนังสือเล่มนี้เมื่อผู้เขียนอ้างอิงถึงงานชั้นต้นของกรัมชี่จากสมุดบันทึกจากคุก ผู้เขียนจะดําเนินตามแนวทางของนักวิชาการกรัมเชี่ยนในระดับสากลที่จะเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับลําดับที่ของสมุดบันทึกของ กรัมชี่ (Q) และลําดับที่ของหัวข้อในสมุดบันทึกเล่มนั้นๆ (§) ทั้งนี้เพื่อให้ทราบถึงที่มาโดยแท้จริงของความคิดของกรัมชี่ ผู้สนใจสามารถดูตารางเปรียบเทียบได้จาก http://www.internationalgramscisociety.org/resources/concordance_table/index.html


334 ต้องการกําลังอํานาจที่ปราศจากการต่อรองหรือประนีประนอมกับกลุ่มพลังอื่นๆเพื่อให้ตนสามารถมีอํานาจเด็ดขาด ในรัฐได้ (Gramsci, 1971: 105, Q15§59) หากเราพิจารณาบริบททางการเมืองของกรัมชี่ในขณะนั้นเราจะพบว่าการเกิดขึ้นของชนชั้นปกครองและผู้ ถูกปกครองในอิตาลีในช่วงต้นของศตวรรษที่ 19 นั้นเป็นผลพวงของการพัฒนาระบบทุนนิยมในอิตาลีตอนเหนือและ ผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 1(Gramsci, 1977: 135-141) ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาและแยกตัวสังคมออกเป็น สองชนชั้นหลักอย่างชัดเจน ชนชั้นปกครองหรือในอีกนัยยะหนึ่งคือ “ชนชั้นผู้มั่งมี” (Propertied class) สําหรับกรัมชี่นั้นไม่ได้เป็นชน ชั้นที่ประกอบด้วยกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว แต่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนผู้มั่งมีอีกสามกลุ่มหลักได้แก่ นายทุ นใหญ่ (The capitalist) เจ้ าที่ ดิน (Landowner) และนายทุ นน้ อ ยหรือ นายทุน ในชนบท (Petty bourgeoisie/The rural capitalist) แนวความคิดในเรื่องนี้ของกรัมชี่นั้นสอดคล้องกับแนวความคิดเรื่องชนชั้นของ มาร์ กซ์ (โปรดดูเ ปรี ยบเทีย บใน Marx, K. and Engels, F., “The Communist Manifesto”, http://www.marxists.org/archive/marx/works/1848/communist-manifesto/) โดยมองว่าชนชั้นนายทุน นั้นก็คือผู้ที่ครอบครองปัจจัยในการผลิต (Means of production) และเครื่องมือในการผลิตต่างๆ และแน่นอนว่า ที่มาของความมั่งคั่งของชนชั้นนายทุนก็คือ “กําไร” (Profit)นั่นเอง ขณะที่เจ้าที่ดินนั้นเป็นกลุ่มคนที่ถือครองที่ดิน เป็นหลักดังนั้นที่มาแห่งความมั่งมีของพวกเขาก็คือ “ค่าเช่าที่ดิน” (Rent) (Donaldson, 2008: 5-6) กรัมชี่มองว่า ในบางครั้งสองกลุ่มนี้ก็จะมีความขัดแย้งกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของอัตราภาษีที่ต้องจ่าย ความสัมพันธ์ระหว่างนายทุนและเจ้าที่ดินนั้นได้ถูกพัฒนาให้เข้มแข็งขึ้นอันเนื่องมาจากการเกิดขึ้นของชน ชั้นใหม่ที่เป็นชนชั้นผู้มั่งมีในประเภทที่สามหรือกลุ่มนายทุนในชนบท กรัมชี่อธิบายว่าคนในกลุ่มหลังสุดนี้แตกต่าง จากเจ้าที่ดินเนื่องจากนายทุนน้อยนั้นมีที่มาของความมั่งคั่งโดยค่าเช่าที่ดินน้อยกว่าเจ้าที่ดิน แต่ขณะเดียวกันพวกเขา ได้รับความมั่งคั่งในรูปแบบของมูลค่าส่วนเกิน (Surplus value) มากกว่า ชนชั้นนายทุนน้อย/ชนบทนี้จะมีการลงทุน ในที่ดินขนาดใหญ่ในชนบทจึงจําเป็นต้องมีการใช้เครื่องมือพิเศษ เทคนิคแบบวิทยาศาสตร์ การใช้ปุ๋ยบํารุง และใช้ แรงงานเพื่อเร่งผลผลิตต่อพื้นที่ให้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้การบุกเบิกของนายทุนน้อยจึงเป็นการเปิดทางให้กับกลุ่ม นายทุนและเจ้าที่ดินได้แทรกซึมเข้ามามีอิทธิพลในชนบทได้ (Donaldson, 2008: 6) อย่างไรก็ตามประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือว่าชนชั้นผู้มั่งมีทั้งสามในโลกสมัยใหม่นั้นไม่ได้มีปฏิบัติการทาง สังคมอย่างโดดเดี่ยวโดยปราศจากความร่วมมือกับคนกลุ่มอื่นหากแต่มีความร่วมมือกับกลุ่มพลังทางสังคมอื่นๆเช่น หน่วยงานราชการ เจ้าหน้าที่รัฐในระดับต่างๆ กองทัพ เป็นต้น ความร่วมมือของชนชั้นปกครองกับกลุ่มพลังต่างๆนี้ เพื่อสร้างการสนับสนุนและสถาปนาความมั่นคงเชิงอํานาจให้ของชนชั้นตนให้เข้มแข็งที่สุดนั่นเอง ชนชั้นผู้ถูกปกครอง (The Subaltern Social Classes) อย่างไรก็ตามในมุมมองของกรัมชี่นั้นกลุ่มพลังทางสังคมที่เขาให้ความสนใจเป็นหลักในการวิเคราะห์ทาง การเมืองก็คือกลุ่มคนหรือชนชั้นผู้ถูกปกครอง/ถูกกดขี่ ทั้งนี้แนวคิดเรื่องนี้ก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับแนวคิดอื่นๆของ


335 กรัมชี่ที่ไม่ได้มีการนําเสนอย่างเป็นระบบ แต่มีความกระจัดกระจายอยู่ตามสมุดบันทึกเล่มต่างๆ (Green, 2002: 2) มาร์คุส กรีน (Marcus Green) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญแนวคิดเรื่องกลุ่มคนผู้ถูกกดขี่ของกรัมชี่ได้อธิบายว่าแนวคิด เรื่องชนชั้นผู้ถูกปกครองของกรัมชี่นั้นได้ถูกศึกษาและนําเสนออย่างเป็นระบบในโลกวิชาการภาษาอังกฤษน้อยมาก เนื่องจากการเข้าถึงงานเขียนของกรัมชี่ในโลกวิชาการสากลนั้นจะอ้างอิงจากงาน “งานเลือกสรรจากสมุดบันทึกจาก คุกของอันโตนิโอ กรัมชี่” ที่พิมพ์ในปี 1971 (Gramsci, 1971) เป็นหลัก ซึ่งในงานเลือกสรรฉบับนี้มีงานเขียน เกี่ยวกับแนวคิดเรื่องกลุ่มคนที่ถูกกดขี่อยู่ไม่มากนัก (Green, 2002: 1) ซึ่งกรีนชี้แจงว่างานเขียนของกรัมชี่ในคุกที่ได้ นําเสนอเกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าวอย่างเป็นระบบมากที่สุดนั้นปรากฏอยู่ในสมุดบันทึกเล่มที่ 25 ซึ่งยังไม่ได้ถูกแปล เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด99ซึ่งในสมุดบันทึกเล่มนั้นกรัมชี่ได้ระบุว่ากลุ่มคนผู้ถูกปกครอง/ถูกกดขี่นั้นได้แก่ ทาส กลุ่ม ศาสนา ผู้หญิง กลุ่มคนต่างชาติพันธุ์ ชาวนาและกรรมาชีพ (Green, 2002: 2; และดูงานแปลบางส่วนของสมุด บันทึกเล่มที่ 25 ได้ใน Bellini, C. et. al, 2010) ในงานเขียนชิ้นสําคัญซึ่งเป็นงานเขียนชิ้นสุดท้าย (และเขียนไม่จบ)ของกรัมชี่ที่ชื่อว่า “แง่มุมบางประการ เกี่ยวกับปัญหาทางใต้” (Some Aspects of the Southern Question) เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้ปูทางแนวคิดของ กรัมชี่เกี่ยวกับเรื่องกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ ตลอดบทความขนาดสั้นชิ้นนี้ กรัมชี่ได้ระบุว่ากลุ่มคนที่ถูกกดขี่นั้นประกอบไป ด้วย ชาวนา และกรรมาชีพ แต่กรรมาชีพในที่นี้เป็นกรรมาชีพในความหมายกว้างที่มิได้หมายถึงคนงานในโรงงาน อุตสาหกรรมเท่านั้นแต่หมายความรวมถึง คนงานทําเหล็ก ช่างเชื่อม ช่างก่อสร้าง นักบวชและกลุ่มปัญญาชน (ดู Gramsci, 1978[1926]: 441–462) นอกเหนือจากนี้ Donaldson (2008: 8) ได้เสนอเพิ่มเติมว่ากลุ่มชนชั้นผู้ถูก ปกครองนั้นในอีกมุมหนึ่งก็คือกลุ่มคนผู้ปราศจากทรัพย์ (Propertyless) และเป็นผู้คนธรรมดาทั่วไป (Common people)ที่ถูกกําหนดสร้างโดยระบบทุนนิยมเพื่อกีดกัน (Exclusion) กลุ่มคนเหล่านี้ออกมาจากอํานาจในสังคม นั่นเอง กล่าวโดยสรุปเกี่ยวกับนิยามของกลุ่มคนที่ถูกปกครอง/กดขี่นั้นไม่ได้หมายความถึงเพียงแค่กลุ่มคนที่ถูกกดขี่ ถูกเอารัดเอาเปรียบเท่านั้น แต่รวมถึงกลุ่มคนที่ปราศจากซึ่งอิสระในการปกครองตัวเอง (Lack of autonomy) แต่ ต้องตกอยู่ภายใต้การครองอํานาจนําของชนชั้น/กลุ่มอื่นในสังคมอีกด้วย (Sassoon, 1982a: 16) นอกจากนี้กรัมชี่ได้ เสนอว่าคนที่ถูกกดขี่นั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่ “ไม่มีที่ทางในประวัติศาสตร์” (Have no history of their own) ของตนเองในเอกสารทางการของรัฐ ไม่ได้รับการเหลียวแลและจมจ่อมอยู่ภายใต้เรื่องเล่าหลัก (Master narrative) ของผู้ปกครอง (San Juan, 2009: 4) สําหรับกรัมชี่นั้นแม้ว่าในสังคมจะประกอบไปด้วยกลุ่มพลังทางสังคมที่หลากหลายที่รวมกันเป็นกลุ่มคนที่ ถูกกดขี่ทั้งนี้มีเพียงกลุ่มพลังสองกลุ่มเท่านั้นที่จะมีบทบาทหลักในกระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมนิยม ดังที่ กรัมชี่ได้เคยเสนอไว้ว่ากลุ่มพลังที่จะเป็นกําลังสําคัญและเป็นผู้กําหนดชะตากรรมของอนาคตก็คือชนชั้นกรรมาชีพ 99

แต่มีความพยามยามโดย Joseph A. Buttigieg ศาสตราจารย์จาก University of Notre Dame, United States ในการ แปลสมุดบันทึกจากคุกของกรัมชี่จากภาษาอิตาเลียนมาสู่ภาษาอังกฤษโดยเรียงตามลําดับสมุดบันทึกจริงโดยไม่ใช่การ เลือกสรรและตัดทอนในแบบของ Hoare and Smith ในปี 1971 ซึ่ง Buttigieg ได้ดําเนินการมาตั้งแต่ปี 1992 จนกระทั่ง ล่าสุดในปี 2007 เขาได้พิมพ์สมุดบันทึกจากคุกในรูปแบบนี้ออกมาแล้ว 3 เล่ม (แต่การแปลนั้นยังคงทําได้ถึงสมุดบันทึกของ กรัมชี่เล่มที่ 8 จากทั้งหมด 33 เล่มเท่านั้น)


336 และชนชั้นชาวนา (Gramsci, 1978[1926]: 441–462) ในมุมของกรัมชี่ชนชั้นกรรมาชีพหรือชนชั้นแรงงานนั้นคือคน ที่ไ ม่มีทรัพย์สินและเป็นคนที่ถูกบีบบังคับให้ต้องแลกเปลี่ยนทรัพย์สินเดียวที่เขามีซึ่งนั่นก็คือพลังในการทํางาน (Labour power) และทักษะในวิชาชีพแขนงต่างๆเท่านั้น (Gramsci, 1977: 98-102; ดูเปรียบเทียบกับ Marx, 1992: 98-104, 309-314) หรือในอีกมุมหนึ่งนั้นคนงานก็คือผู้ที่ถูกจ้างให้ทํางานในโรงงานอุตสาหกรรมทั้ง ผู้ใช้ แรงงานทั่วไป เสมียน ช่างเทคนิค เช่นเดียวกันกับ ลูกจ้าง คนใช้ คนขับรถ คนขับรถแทรม พนักงานรถไฟ บริกร คน กวาดถนน ลูกจ้างเอกชน ผู้ที่ทํางานในเชิงปัญญา ลูกจ้างในไร่นา คนขนของ คนขับแท็กซี่และอื่นๆ กลุ่มคนเหล่านี้ ประกอบสร้างเป็นคนใน “ชนชั้นแรงงาน” ทั้งสิ้น (Gramsci, 1977: 103-108; Donaldson, 2008: 15) อํานาจที่ แท้จริงของชนชั้นแรงงานก็คือการเป็นปัจจัยการผลิตที่สําคัญยิ่งและไม่สามารถทดแทนได้เนื่องจากแรงงานนั้นเป็น แหล่งที่มาของ “มูลค่าส่วนเกิน” (Surplus value) (โปรดดู Captial vol.1 ของ Karl Marx ในบทที่ 3-8 และ 19 โดยสามารถเข้าถึงงานของมาร์กซ์แบบออนไลน์ได้ที่http://www.marxists.org/archive/marx/works/1867-c1/) ซึ่งนั่นหมายความว่ามีเพียงการให้ความสําคัญกับชนชั้นแรงงานและการปฏิวัติถาวรเท่านั้นจึงจะทําให้เกิดการ ปรับเปลี่ยนรูปแบบในการผลิตแบบใหม่ได้ (Donaldson, 2008: 15) ชนชั้นผู้ถูกกดขี่อีกหนึ่งกลุ่มที่กรัมชี่ให้ความสําคัญก็คือกลุ่มชาวนา/ชาวไร่ (Peasant) ซึ่งกรัมชี่ได้จําแนก คนในกลุ่มนี้ออกเป็นอีกสามประเภทด้วยกันได้แก่ กลุ่มแรก กลุ่มชาวนาผู้มั่งคั่ง (Rich peasant) ซึ่งเป็นผู้ที่มีที่ดิน เป็นของตนเองและได้ประโยชน์จากค่าเช่าที่ดินพร้อมกับส่วนแบ่งของพืชผลด้วย กลุ่มที่ส อง กลุ่มชาวนาทั่วไป (Middle peasant) ผู้ที่ทําหน้าที่ผลิตผลผลิตเข้าสู่ตลาด ชาวนาในประเภทนี้มีสิทธิในการถือครองที่ดินน้อยและ มักจะต้องบริโภคพืชผลที่ตนเองผลิตได้เองด้วยส่วนหนึ่ง ชาวนาที่เช่าที่ ชาวนาที่เช่าช่วงต่อในชั้นที่สองและรวมถึงคน เลี้ยงสัตว์ก็จัดอยู่ในประเภทนี้ด้วยเช่นกัน และกลุ่มสุดท้าย ชาวนาที่ยากไร้ คนกลุ่มนี้ไม่มีที่ดินรวมถึงเครื่องมือในการ ผลิ ต เป็ น ของตนเอง ต้ องประสบกับ ปั ญหาความยากจนอย่ างยื ดเยื้ อ และจํา นวนหนึ่ งต้ อ งขาดสารอาหารด้ ว ย (Donaldson, 2008: 10) กล่าวโดยสรุปก็คือ ในมุมมองของกรัมชี่นั้น “ความร่วมมือ” ระหว่างชนชั้นผู้ถูกกดขี่ทั้ง สองนั่นก็คือคนงานและชาวนา/ชาวไร่เป็นสิ่งที่จําเป็นเพื่อที่จะสร้างพันธมิตรระหว่างชนชั้นให้เกิดขึ้นทั้งนี้เพื่อสร้าง กลุ่มประวัติศาสตร์ (Historical bloc) ใหม่ที่ท้าทายอํานาจนํา (Hegemony) ของชนชั้นปกครองต่อไป 2. ดุลยภาพของกลุ่มพลังทางสังคม: สงครามยึดพื้นที่ทางความคิดและการปฏิวัติเงียบ (Balance of Class Forces: War of Position and Passive Revolution) ในส่วนก่อนหน้านี้ผู้เขียนได้นําเสนอถึงตัวแสดงทางการเมือง (Political agencies) ในแนวคิดทาง การเมืองของกรัมชี่อันได้แก่ กลุ่มพลังทางสังคมหลักสองกลุ่มคือชนชั้นปกครองและชนชั้นผู้ถูกปกครอง/ถูกกดขี่ การ นําเสนอในส่วนนี้ผู้เขียนต้องการเน้นย้ําให้ผู้อ่านได้เห็นว่าจุดเน้นในทฤษฎีการเมืองของกรัมชี่นั้นมิได้สนใจที่ตัวแสดง ทางการเมืองอย่างหยุดนิ่ง (Static) แต่กรัมชี่นั้นสนใจที่ “ความสัมพันธ์” ของกลุ่มพลังต่างๆในระบบทุนนิยม มากกว่า ในหัวข้อนี้ผู้เขียนได้นําเสนอแนวคิดสําคัญสองประการของกรัมชี่ที่ใช้อธิบายการสร้างดุลยภาพทางอํานาจ (Balance of power) ของกลุ่มพลังต่างๆได้แก่แนวคิดเรื่องสงครามยึดพื้นที่ทางความคิด ที่จะเป็นเครื่องมือสําคัญ


337 ของกลุ่มพลังที่ถูกกดขี่ได้นํามาใช้เพื่อท้าทายต่อการครองอํานาจนําของชนชั้นปกครองและแนวคิดเรื่องการปฏิวัติ เงียบ อันเป็นเครื่องมือสําคัญของชนชั้นปกครอง สงครามยึดพื้นที่ทางความคิด100 (War of Position) การต่อสู้ทางการเมืองและสังคมในโลกแห่งความเป็นจริงของกลุ่มพลังทางสังคมต่างๆนั้นมีกลยุทธ์ ที่ หลากหลายให้เลือกใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายของกลุ่มตน แนวความคิดที่สําคัญของกรัมชี่ในเรื่องนี้ได้ปรากฏอยู่ใน บันทึกที่ชื่อว่า การต่อสู้ทางการเมืองและสงครามการทหาร (Political Struggle and Military War) ซึ่งกรัมชี่ได้ อธิบายว่ากลุ่มพลังต่างๆนั้นได้นําพาตัวเองเข้าสู่การต่อสู้ทางชนชั้น (Class struggle) ได้อย่างไร โดยกรัมชี่ได้ชี้แจงว่า การสงครามนั้นสามารถจําแนกได้เป็นสามประเภทด้วยกันได้แก่ สงครามขับเคลื่อนยึดพื้นที่ (War of Movement) “การทําสงครามยึดพื้นที่ทางความคิด” (War of Position) และการทําสงแบบกองโจร (Underground warfare) (Gramsci, 1971: 229, Q1§134) แต่ในที่นี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงเพียงการทําสงครามในสองรูปแบบแรกเท่านั้น สําหรับกรัมชี่นั้น “การทําสงครามขับเคลื่อนยึดพื้นที่” นั้นเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับรัฐที่มี “ประชา สังคม” ที่ด้อยพัฒนาซึ่งในรัฐแบบนั้นจะมีอํานาจทางการเมืองที่เปราะบาง (Fragile) อีกทั้งกลุ่มพลังทางสังคมอื่นๆ อาทิเช่น สหภาพแรงงาน กลุ่มกดดัน รวมถึงองค์กรพรรคการเมืองนั้นจะยังไม่มีการพัฒนาเต็มที่ (Sassoon, 1982a: 16) ซึ่งจะทําให้การต่อต้านต่อการใช้อํานาจนั้นเกิดขึ้นได้ยาก อย่างไรก็ดีกลยุทธ์แบบนี้ไม่เหมาะสมสําหรับกลุ่มพลัง ต่างๆในการนําไปใช้เพื่อสร้างภาวะการครองอํานาจนํา (Hegemonic position) ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะ อย่างยิ่งในรัฐที่มีระดับของการพัฒนาและมีประชาสังคมที่พัฒนาแล้ว การทําสงครามขับเคลื่อนยึดพื้นที่นี้เป็นการใช้ อํานาจบังคับ (Coercion) และการต่อสู้ในเชิงกายภาพที่รุนแรง (Violent struggle) ซึ่งจะใช้ได้ผลในระยะแรก เท่านั้นแต่ไม่เพียงพอต่อการสร้างอํานาจนําให้ยั่งยืน ดังนั้นกรัมชี่จึงได้เสนอกลยุทธ์ทางเลือกสําหรับชนชั้นผู้ถูกปกครองเพื่อใช้เป็นเครื่องมือหลักในการได้มาซึ่ง สถานะการครองอํานาจนํานั่นก็คือ กลยุทธ์ “การทําสงครามยึดพื้นที่ทางความคิด” (Buci-Glucksmann, 1980: 250–253; Jessop, 1990: 210) แนวคิดดังกล่าวนั้นเป็นยุทธวิธีทางการเมืองในระดับแนวหน้าเชิงวัฒนธรรม (Cultural front) ที่ต้องการการแทรกซึมและบ่อนทําลายกลไกเชิงอุดมการณ์ (Ideological mechanism) ของชน ชั้นปกครองที่มีอยู่มากมาย อย่างต่อเนื่องและใช้ระยะเวลายาวนาน เป้าหมายหลักในการยึดครองพื้นที่ทางความคิด ให้เกิดประสบความสําเร็จคือตัวการต่างๆในพื้นที่ประชาสังคม เช่น โรงเรียน สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สื่อมวลชน สหภาพแรงงาน เป็นต้น (Gramsci, 1971: 235, 342, Q13§24, Q11§12; Femia, 1981: 52) กลยุทธ์ การทําสงครามขับเคลื่อนและสงครามยึดพื้นที่ทางความคิดนี้เป็นยุทธวิธีสําหรับชนชั้นผู้อยู่ใต้อํานาจได้เลือกนํามาใช้ เพื่อต่อต้าน/ท้าทายและสร้างความรับรู้ใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมการเมืองหนึ่งๆ อย่างไรก็ดีชนชั้นปกครองนั้นก็ไม่ได้ หยุดนิ่งหรือนิ่งนอนใจกับภาวะการครองอํานาจนําของตนแต่ก็มีความพยายามสร้าง “ดุลยภาพ” กับกลุ่มพลังอื่นๆ ด้วยการใช้ยุทธวิธีที่เรียกว่าการปฏิวัติเงียบ 100

นักวิชาการบางคนแปลว่า “สงครามจุดยืน” แต่ผู้เขียนมองว่าคําว่าจุดยืนนั้นมักจะตั้งอยู่บนฐานการตัดสินใจของปัจเจก บุคคลซึ่งอาจไม่ให้ภาพของการยึดพื้นที่ความคิดของมวลชนจํานวนมาก จึงเสนอให้ใช้คําดังกล่าวแทน


338 การปฏิวัติเงียบ (Passive Revolution) กรัมชี่ไ ด้เสนอแนวความคิดที่เป็นประโยชน์ในการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มพลังทางสังคมอีก แนวคิดหนึ่งนั่นก็คือ “การปฏิวัติเงียบ” (Passive revolution) ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนั้นกรัมชี่ได้รับแรงบันดาลใจมาจา กวินเซนโซ คูโอโค่ (Vincenzo Cuoco) (Hoare and Nowell Smith, 1971: 59 n.11) โดยพัฒนาขึ้นเพื่อนํามาใช้ กับการอธิบายปรากฏการณ์ที่ชนชั้นปกครองได้ดําเนินการสืบทอดอํานาจ (Maintain) โดยการ ชูประเด็น (Promote) ความเปราะบาง/จุดอ่อนของคู่ต่อสู้ทางการเมือง (Sassoon, 1982b: 130) นอกจากนี้กรัมชี่ยังได้ใช้ แนวคิดเรื่องการปฏิวัติเงียบเพื่อชี้ให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอํานาจ (Reorganisation) ของรัฐและการ ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองกับชนชั้นล่างเพื่อรักษาไว้ซึ่ง “อํานาจนํา” (Hegemony) ของชนชั้น นําและเพื่อเป็นการกีดกันมวลชนส่วนมากออกจากการมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมือง (Carnoy, 1984: 76) การปฏิวัติเงียบหรือที่บางครั้งกรัมชี่ก็เรียกว่า “การปฏิวัติเพื่อบูรณะ” (Revolution-restoration) นั้นใน อีกมุมหนึ่งนั้นเป็นความพยายามของชนชั้นปกครองที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานเชิง บวกและยังเป็นเทคนิควิธีที่ชนชั้นนายทุนผู้มั่งคั่ง (Bourgeois) เท่านั้นที่จะทําได้ (Sassoon, 1987: 205) นอกจากนี้ การปฏิวัติเงียบนั้นยังหมายความถึง “การปฏิวัติที่ปราศจากมวลชน” (Revolution without mass participation) หรือเป็น “การปฏิวัติจากเบื้องบน” (Revolution from above) (ดู Morton, 2010: 318; Sassoon, 1982b: 133; Buci-Glucksmann, 1979: 211–216; Schecter, 2007: 40–41) ที่เป็นการขับเคลื่อนโดยชนชั้นนํา (Elite) เพื่อก่อให้เกิด “การปฏิรูป” (Reform) ทางสังคมและการเมืองโดยปราศจากฐานการยอมรับจากมวลชน101 ความสําคัญของแนวคิดเรื่องการปฏิวัติเงียบก็คือการเป็นแนวคิดที่ใช้อธิบายว่าชนชั้นนายทุนหรือชนชั้น ปกครองนั้นสามารถเอาตัวรอดจากการต่อต้านและลุกฮือได้อย่างไรในสังคมทุนนิยมปัจจุบันแม้ว่าจะต้องเผชิญกับ ภาวะวิกฤติทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ตลอดเวลา ดังที่มาร์ติน คาร์นอย (Carnoy, 1984: 77) ได้ชี้แจงว่าชนชั้น ปกครองนั้นจะมีความพยายามอยู่เสมอที่จะใช้ยุทธวิธีการปฏิวัติเงียบ/การปฏิวัติจากเบื้องบนเมื่อใดก็ตามที่พวกเขา เริ่ ม รู้ สึ ก ว่ า การครองอํ า นาจนํ า ของตนเองนั้ น ไปกั น ไม่ ไ ด้ กั บ ความต้ อ งการขยายขอบเขตของพลั ง การผลิ ต (หมายความถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั่นเอง) นอกจากนี้แนวคิดดังกล่าวยังมีคุณูปการในการชี้ให้เห็นถึงความ แตกต่างระหว่างการเมืองแบบ “ปฏิรูป” และ “ปฏิวัติ” เพื่อเป็นการชี้ช่องทางให้ชนชั้นผู้ถูกกดขี่ได้เห็นและสามารถ จัดการกับปฏิบัติการทางอํานาจของชนชั้นปกครองได้อย่างรู้เท่าทัน การนําเสนอในหัวข้อ ดุลยภาพของกลุ่มพลังทางสังคมฯ ดังกล่าวข้างต้นผู้เขียนพยายามเสนอว่ากลุ่มพลัง ทั้งสองคือชนชั้นปกครองและถูกปกครองนั้นต่างก็มีความพยายามที่จะ “ถ่วงดุล” อํานาจของแต่ละกลุ่มพลังอยู่เสมอ อย่างมีพลวัตรเพื่อพยายามช่วงชิงสถานะการครองอํานาจนํา (Hegemonic position) ให้เกิดขึ้นในระดับ ห้วงขณะ และด้วยกลยุทธ์ที่หลากหลาย การทําสงครามยึดพื้นที่ทางความคิดเป็นเครื่องมือของชนชั้นล่างจะได้นํามาใช้เป็น ยุทธวิธีในการเคลื่อนไหว การทําสงครามในที่นี้ไม่ได้มุ่งยึดพื้นที่ในเชิงกายภาพ (Spatial terrain) แต่เป็นการมุ่ง 101

ทั้งนี้แม้ว่าโดยตัวแนวคิดนั้นจะชื่อว่า “การปฏิวัติเงียบ” แต่ในความเป็นจริงแล้วแนวความคิดนี้เป็นการอธิบาย “การ ปฏิรูป” ของพวกชนชั้นนํา ไม่ใช่การปฏิวัติโดยนัยยะที่เข้าใจกันตามปกติแต่อย่างใด


339 เอาชนะ “การเมืองของโครงสร้างส่วนบน” (Politics of superstructure) โดยการยึดครองกลไกอุดมการณ์ต่างๆใน พื้นที่ประชาสังคมผ่านทางตัวการต่างๆ อย่างไรก็ตามในทางกลับกันนั้นชนชั้นนําก็มีความพยายามในการรักษา/สืบ ทอดอํานาจของตนผ่านทางกลยุทธ์แบบการปฏิวัติเงียบ เพื่อทําทุกวิถีทางในการลดทอน ขัดขวาง และทําลายความ เป็ น เอกภาพของกลุ่ ม พลั ง ทางสั ง คมอื่ น ๆ เพื่ อเป็ น การป้อ งกั นการลุก ขึ้ น มาท้ า ทายของกลุ่ มอํ า นาจอื่ น นั่น เอง ท้ายที่สุดในการช่วงชิงความได้เปรียบในการสร้างดุลยภาพระหว่างกลุ่มพลังและเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคม ทุนนิยมนั้น ซิมมอน (Simon, 1999: 57) เสนอว่าชนชั้นผู้ถูกกดขี่จะต้องมี (และต้องสร้าง) คุณลักษณะในแบบที่ เรียกว่า “การต่อต้านปฏิวัติเงียบ” (Anti-passive revolution) ให้เกิดขึ้นโดยขยายฐานการต่อสู้ทางชนชั้นและสร้าง แนวร่วมประชาชนที่มาจากผู้คนในกลุ่มต่างๆให้เข้าร่วมในการเคลื่อนไหวให้มากที่สุด 3. การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของกลุ่มพลังต่างๆแบบกรัมชี่ (Gramsci’s analysis of Relations of Force) กรัมชี่ได้นําเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับการวิเคราะห์สถานการณ์ทางสังคมและการเมืองเอาไว้ในงานเขียนที่ เข้าตั้งชื่อว่า การวิเคราะห์สถานการณ์. ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มพลัง (Analysis of Situations. Relations of Force (Gramsci, 1971: 177, Q13§17) โดยกรัมชี่ได้จําแนกสถานการณ์ไว้เป็นสองรูปแบบด้วยกันได้แก่ สถานการณ์แบบเฉพาะกิจ (Conjunctural phenomena) ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้นั้นจะมีลักษณะของการเกิดขึ้น แบบเป็นบางโอกาส (Occasional) ค่อนข้างฉับพลัน (Immediate) และโดยส่วนมากแล้วไม่ได้คาดการณ์ว่าจะพบ (Accidental) ส่วนสถานการณ์อีกรูปแบบหนึ่งนั้นคือสถานการณ์เชิงโครงสร้าง (Organic situation) ซึ่งเหตุการณ์ ในแบบที่ส องนั้นจะมีลักษณะที่ค่อนข้างถาวร (Relatively permanent) และมักจะเป็นวิกฤติการณ์ที่มีช่วง ระยะเวลายาวนานซึ่งอาจกินเวลานานได้นับทศวรรษ (Gramsci, 1971: 177–178, Q13§17) กรัมชี่เสนอว่าความผิดพลาดที่มักจะพบเจอในการวิเคราะห์ทางการเมือง-ประวัติศาสตร์ (Historicopolitical) ก็คือว่าผู้ที่ประเมินสถานการณ์นั้นไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสถานการณ์/ปรากฏการณ์ใดเป็นแบบเฉพาะ กิจหรือแบบโครงสร้าง (Gramsci, 1971: 178, Q13§17; see also Martin, 1993: 122–131) ผู้เขียนมองว่าการ นําเสนอแนวคิดเรื่องการวิเคราะห์สถานการณ์นั้นแม้ว่าจะดูเป็นเรื่องพื้นฐานธรรมดาแต่ก็ถือได้ว่ามีความสําคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพยายามนําทฤษฎีตลอดจนแนวความคิดต่างๆมาประยุกต์ใช้โดยนักเคลื่อนไหวทางสังคม/ การเมือง การจําแนกสถานการณ์แต่ล ะกรณีให้ออกนั้นจะมีประโยชน์ต่อการกําหนดกลยุทธ์และวิธีการในการ เคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้องนั่นเอง ในสมุด บัน ทึก เล่ มเดี ยวกัน นี้ก รัม ชี่ยัง ได้ นํา เสนออีกแนวความคิด หนึ่ง ที่สํ าคั ญได้แ ก่แนวคิ ดเรื่อ ง การ วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มพลัง (Analysis of relations of forces) ซึ่งชองทาล มูฟ (Mouffe, 1979: 180) มองว่าแนวคิดดังกล่าวนั้นมีความสําคัญระดับเป็นตัวบทสําคัญในการทําความเข้าใจแนวคิดของเรื่องการครอง อํานาจนําของกรัมชี่เลยทีเดียว ทั้งนี้กรัมชี่ได้จําแนกความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มพลังต่างๆออกเป็นสองโมเมนต์หลัก ด้วยกันได้แก่ ประการแรก โมเมนต์พื้นฐาน (Fundamental moment) ซึ่งประกอบไปด้วย ความสัมพันธ์ของกลุ่ม พลังทางสังคม (Relation of social force) และประการที่สอง โมเมนต์เกี่ยวเนื่อง (Subsequent moment) ที่ ประกอบไปด้วยความสัมพันธ์ที่สําคัญที่สุดได้แก่ ความสัมพันธ์ของกลุ่มพลังทางการเมือง (Relation of political


340 force) และกลุ่มพลังทหาร-การเมือง (Relation of politico-military force) (Gramsci, 1971: 180–185, Q13§17; Adamson, 1980: 159–161; Joseph, 2002: 35–36; Morera, 1990: 150–151) สําหรับโมเมนต์พื้นฐานอันได้แก่ความสัมพันธ์ของกลุ่มพลังทางสังคมนั้นกรัมชี่มองว่าความสัมพันธ์ใน รูปแบบนี้นั้นเชื่อมโยงกับโครงสร้างส่วนล่างเป็นหลักโดยเป็นอิส ระจากปัจจัยในเรื่องของเจตจํานงในโครงสร้าง ส่วนบน ความสัมพันธ์ในแบบแรกนี้เป็นพัฒนาการของพลังการผลิตในเชิงวัตถุ และมองว่าการผลิตนั้นเป็นฐานใน การเกิดขึ้นของชนชั้นทางสังคมต่างๆและกลุ่มชนชั้นต่างๆนั้นจะถือครองและมีหน้าที่ทางการผลิตที่แตกต่างกันไป (Gramsci, 1971: 180-181, Q13§17) ขณะที่โมเมนต์เกี่ยวเนื่องนั้นเป็นโมเมนต์ที่กรัมชี่ให้ความสนใจมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขาได้ให้ความสนใจกับความสัมพันธ์ของกลุ่มพลังทางการเมืองมากที่สุดเนื่องจากกรัมชี่มองว่า ความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้นั้นมีความสําคัญต่อการทําความเข้าใจการครองอํานาจนํามากที่สุด กรั ม ชี่ ยั งได้ จํ า แนกย่ อ ยลงไปอี กว่ า ภายในความสั ม พั น ธ์ข องกลุ่ม พลั ง ทางการเมื อ ง (อั น เป็ นโมเมนต์ เกี่ยวเนื่อง) นั้นยังจําแนกได้อีก 3 ระดับ (Level) ด้วยกันได้แก่ ระดับที่หนึ่ง ระดับของความสัมพันธ์ทางการเมือง แบบเศรษฐกิจดั้งเดิม (Primitive economic level) ความสัมพันธ์ในระดับนี้นั้นจิตสํานึกของผู้คนในแง่ของการเป็น ผลประโยชน์แห่งอาชีพของตนนั้นได้ถูกแสดงออกแต่ไม่ได้เป็นผลประโยชน์ของทั้งชนชั้น ระดับที่สอง ระดับของ ความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบเศรษฐกิจ-การเมือง (Political economic level) ซึ่งจิตสํานึกของชนชั้นถูก แสดงออกแต่ว่าเป็นเพียงในเรื่องของเศรษฐกิจเท่านั้น และระดับที่สาม และเป็นระดับที่มีความสําคัญสูงสุดก็คือ “ระดับของการครองอํานาจนํา” (Hegemony) ดังที่กรัมชี่ได้อธิบายตามตัวบทที่ว่า ...in which one becomes aware that one’s own corporate interests, in their present and future development, transcend the corporate limits of the purely economic class, and can and must become the interests of other subordinate groups too (Gramsci, 1971: 181, Q13§17) สําหรับกรัมชี่นั้นระดับของความสัมพันธ์แบบการครองอํานาจนํานี้เป็นโมเมนต์ทางการเมืองที่สําคัญที่สุดที่ เป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์และหลอมรวมความเป็นเอกภาพระหว่างปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การเมือง ปัญญาชนและ ศีลธรรมเข้าด้วยกัน การต่อสู้ทางการเมืองในระดับนี้ไม่ได้เป็นเพียงการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของคน เฉพาะกลุ่มเท่านั้น (Corporate level) แต่เป็นการต่อสู้เพื่อชนชั้นผู้ถูกกดขี่ทั้งมวลอีกด้วย (Gramsci, 1971: 181, 182 Q13§17) นอกจากนี้โมเมนต์เกี่ยวเนื่องอีกประการหนึ่งที่กรัมชี่เสนอไว้ในสมุดบันทึกจากคุกก็คือความสัมพันธ์ ระหว่างกลุ่มพลังทหาร-การเมือง (Relation of politico-military force) ซึ่งความสัมพันธ์ในระดับนี้นั้นก็มี ความสํ า คัญ เช่ นกั น โดยที่ ก รั มชี่ จํ าแนกความสั ม พัน ธ์ รูป แบบนี้ เ ป็น อย่า งคื อ แบบการทหารนํ าทุ ก สิ่ง (Purely military) และแบบทหารกับการเมือง (Politico-military) ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มพลังทหาร-การเมืองนี้ก็มี ประโยชน์ในแง่ของบริบทการกอบกู้เอกราชให้กับชาติ กรัมชี่มองว่ารูปแบบผสมระหว่างความสัมพันธ์แบบทหารนํา


341 ทุกสิ่ง และทหารกับการเมือ งนั้น จําเป็ นในการเมืองแบบเก่าที่มุ่ งแสวงหาการรุ กรานเชิง พื้นที่แ ละการประกาศ อิสรภาพจากเจ้าอาณานิคม (Gramsci, 1971: 183, Q13§17; Howson, 2006: 18-22) คุณูปการของการทําความเข้าใจแนวคิดเรื่องการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มพลังต่างๆนั้นเป็นดังที่ ซิมมอนได้เสนอว่ากลุ่มพลังผู้ถูกกดขี่ทั้งหลายนั้นจําเป็นต้องก้าวข้ามและเอาชนะการต่อสู้เชิงอุดมการณ์โดยเปลี่ยน จากการเรียกร้องที่เป็นประเด็นเศรษฐกิจและเป็นผลประโยชน์เฉพาะของคนบางกลุ่ม (Economic corporate phase) มาสู่การผนวกผลประโยชน์ของคนในชนชั้น/กลุ่มพลังอื่นๆให้ได้และถ้าสามารถทําเช่นนั้นได้ก็เรียกได้ว่าเป็น การสร้างการครองอํานาจนําให้เกิดขึ้น (Simon, 1999: 36; สําหรับแนวคิดเรื่องการครองอํานาจนําในภาษาไทย โปรดดู วัชรพล พุทธรักษา, 2549, 2550, 2551) 4. สรุป ผู้เขียนได้นําเสนอแนวคิดสําคัญของกรัมชี่บางประการเกี่ยวกับตัวแสดงทางการเมืองและความสัมพันธ์ ระหว่ า งกลุ่ มพลั งต่ า งๆเพื่ อ เป็ น การปูพื้ น ในการทํา ความเข้ า ใจแนวคิด ทางการเมือ งอื่น ๆของอั น โตนิ โอ กรั ม ชี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อแนวคิดเรื่องการครองอํานาจนํา (Hegemony) และเป็นประโยชน์ต่อการนําไปประยุกต์ใช้เพื่อ วิเคราะห์การเมืองในกรณีต่างๆ ผู้เขียนได้นําเสนอแนวคิดของกรัมชี่ในการมอง “ตัวแสดงทางการเมือง” (Political agency) ในฐานะของกลุ่มพลังทางสังคม (Social forces) ในรูปแบบต่างๆและนําเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับกล ยุทธ์ในการสร้าง “ดุลยภาพ” ระหว่างกลุ่มพลังต่างๆทั้งในมุมของชนชั้นผู้ถูกกดขี่ที่ควรใช้กลยุทธ์การทําสงครามยึด พื้นที่ทางความคิด (War of position) ขณะที่ชนชั้นนําและชนชั้นปกครองจะใช้การปฏิวัติเงียบ (Passive revolution) มาเป็นเครื่องมือในการลดทอนพลังในการต่อต้านอํานาจนําและรักษาสถานะการนําของตนเองไว้ การมองโลกในแบบของกรัมชี่ดังที่ได้นําเสนอไปนั้นมีคุณูปการต่อผู้สนใจนําไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างกรอบ การมองและวิเคราะห์การเมืองในลักษณะที่เป็นวิภาษวิธี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเป็นกรอบการมองปรากฏการณ์ที่ ไม่หยุดนิ่งตายตัว แต่นําเสนอปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มพลัง (ตัวแสดง)ต่างๆอย่างต่อเนื่อง มุมมองเช่นนี้เป็นประโยชน์ ต่อการนําไปใช้ศึกษาการเปลี่ยนผ่านทางสังคมและการเมือง (Social and political transformation) ในบริบท ต่างๆ ส่วนเครื่องมือของตัวแสดงต่างๆในการเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นได้ถูกนําเสนอในลักษณะของยุทธวิธีหรือกล ยุทธ์ต่างๆ การทําความเข้าใจแนวคิดเรื่องการทําสงครามยึดพื้นที่ทางความคิดเปรียบเทียบกับการทําสงครามยึด พื้นที่แบบทหารจะเป็นประโยชน์ต่อนักเคลื่อนไหวทางสังคมและกลุ่มพลังผู้ถูกเอาเปรียบทั้งหลายในการนําไป ประยุ ก ต์ ส ร้ า งแนวทางขั บ เคลื่ อ นของตนเพื่ อ ให้ มี พ ลั ง ในการท้ า ทายกั บ อํ า นาจนํ า ต่ า งๆที่ ดํ า รงอยู่ ใ นสั ง คมได้ เช่นเดียวกันกับแนวคิดเรื่องการปฏิวัติเงียบนั้นก็มีประโยชน์ต่อทั้งนักเคลื่อนไหวและนักวิเคราะห์การเมืองในการ จําแนกความแตกต่างระหว่างการปฏิวัติและการปฏิรูป แนวคิดดังกล่าวของกรัมชี่ช่วยเตือนให้เราได้ตระหนักและ เข้าใจถึงความสัมพันธ์ทางอํานาจที่ผิดเพี้ยนหรือไม่ถูกไม่ควรในสังคม ในส่วนท้ายสุดของบทความผู้เขียนได้นําเสนอแนวคิดเรื่องการวิเคราะห์ส ถานการณ์และการวิเคราะห์ ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มพลังแบบต่างๆ ซึ่งแม้คําว่าสถานการณ์นั้นจะดูเป็นคําที่ปกติและธรรมดาในสามัญสํานึก


342 ของเราแต่กรัมชี่มองว่าการแยกแยะให้ออกระหว่างสถานการณ์ในแบบโครงสร้าง (ที่ยืดเยื้อยาวนานและซับซ้อน) กับ สถานการณ์เฉพาะกิจ/เฉพาะหน้านั้นมีความสําคัญอย่างยิ่ง คุณูปการของแนวคิดนี้อย่างน้อยที่สุดก็มีประโยชน์เช่น การนํ า ไปใช้ วิ พ ากษ์ ก ารทํ า งานของรั ฐ บาลต่ อ การแก้ ไ ขปั ญ หาต่ า งๆของชาติ แนวคิ ด ดั ง กล่ า วช่ ว ยให้ จั ด วาง ความสําคัญของการแก้หรือจัดการกับปัญหาต่างๆได้อย่างถูกต้อง ส่วนแนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มพลังดังที่กรัมชี่ได้นําเสนอในรูปแบบของโมเมนต์แบบต่างๆนั้นมี ประโยชน์ต่อผู้สนใจวิเคราะห์การเมืองและนักเคลื่อนไหวทางสังคม/การเมืองในการนําไปใช้เป็นกรอบในการมอง/ วิเคราะห์ศักยภาพของกลุ่มพลังของตนได้ว่ากลุ่มพลังนั้นๆมีโมเมนต์ในการเคลื่อนไหวอยู่ในระดับใดและหากต้องการ ไปให้ถึงเป้าหมายสูงสุดคือการสถาปนากลุ่มประวัติศาสตร์ของตนเองนั้นจะต้องก้าวข้ามโมเมนต์ของการเคลื่อนไหว ไปอีกกี่ระดับ นอกจากนี้สําหรับผู้สนใจศึกษาทฤษฎีเรื่องการครองอํานาจนําของกรัมชี่นั้นแนวคิดเรื่องโมเมนต์ต่างๆนี้ ถือได้ว่าเป็นแก่นสําคัญในการทําความเข้าใจเพื่อศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

บรรณานุกรม วัชรพล พุทธรักษา. (2549). รัฐบาลทักษิณกับความพยายามสร้างภาวะการครองอํานาจนํา. วิทยานิพนธ์ รัฐศาสตรมหาบัณฑิต (การปกครอง) ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. วัชรพล พุทธรักษา. (2550). แนวความคิดการครองอํานาจนํา (Hegemony) ของกรัมชี่ (Gramsci): บททดลอง เสนอในการอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทย. บทความนําเสนอในงานประชุมวิชาการรัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติครั้งที่ 8 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติไบเทคบางนา 13 ธันวาคม 2550. วัชรพล พุทธรักษา. (2551). กลุ่มประวัติศาสตร์ ปัญญาชน การครองอํานาจนํา และการโต้ตอบต่อการครองอํานาจ นํา: แนวความคิดของอันโตนิโอ กรัมชี่กับการอธิบายการเมืองไทยร่วมสมัย. บทความนําเสนอในงาน ประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติครั้งที่ 9 ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย วันที่ 2 ธันวาคม 2551. Adamson, W.L. (1980). Hegemony and Revolution A Study of Antonio Gramsci's Political and Cultural Theory. Berkeley: University of California Press. Bellini, C. et.al. (2010). “The history of the subaltern groups: Rome and the Ages in Italy” International Gramsci Journal, 2, pp. 14–20. Buci-Glucksmann, C. (1979). “State, transition and passive revolution” in Mouffe, C. (ed.) Gramsci and Marxist Theory. London: Routledge&Kegan Paul. Buci-Glucksmann, C. (1980). Gramsci and the State. Fernbach, D. (tr.). London: Lawrence and Wishart.


343 Carnoy, M. (1984). The State&Political Theory. New Jersey: Princeton University Press. Donaldson, M. (2008). Gramsci, Class and Post-Marxism. International Gramsci Journal, 1(1), 1-27. Femia, J. (1981). Gramsci's political thought: Hegemony, Consciousness, and the Revolutionary Process. Oxford: Clarendon Press. Gramsci, A. (1971). Selections from the Prison Notebooks. ed. and trans. Hoare, Q and Nowell Smith, G. London: Lawrence and Wishart. Gramsci, A. (1977). Selection from Political Writings (1910-1920). Hoare, Q. (Ed.) London: Lawrence and Wishart. Gramsci, A. (1978[1926]). “Some Aspects of the Southern Question” in Hoare, Q. (ed.) Antonio Gramsci Selection from Political Writings 1921–1926. London: Lawrence and Wishart. Green, M. (2002). “Gramsci Cannot Speak: Presentations and Interpretations of Gramsci’s concept of Subaltern” Rethinking Marxism, 14(3), pp. 1–24. Hoare, Q and Nowell Smith, G. (1971). “Introduction” in Hoare, Q and Nowell Smith, G. (ed. and trans). Selections from the Prison Notebooks. London: Lawrence and Wishart. Howson, R. (2006). Challenging Hegemonic Masculinity. Oxford: Routledge. Jessop, B. (1990). State Theory Putting Capitalist States in their Place. Cambridge: Polity Press. Joseph, J. (2002). Hegemony A realist analysis. London: Routledge. Landy, M. (1994). Film, Politics, and Gramsci. London: University of Minnesota Press. Martin, J. (1993). Antonio Gramsci and Political Analysis Hegemony and Legitimacy. PhD thesis, Department of Politics, University of Bristol. Marx, K. (1992). Marx's Capital A Student Edition. Arthur, C. J. (ed.). London: Lawrence&Wishart. Marx, K. and Engels, F., “The Communist Manifesto”, http://www.marxists.org/archive/marx/works/1848/communist-manifesto/ Marx, K., “Capital”, http://www.marxists.org/archive/marx/works/1867-c1/ Morera, E. (1990). Gramsci’s Historicism A Realist Interpretation. London: Routledge. Morton, A.D. (2010). “The continuum of passive revolution” Capital&Class, 34(3), pp. 315–342. Mouffe, C. (1979). “Hegemony and ideology in Gramsci” in Mouffe, C. (ed.) Gramsci and Marxist Theory. London: Routledge&Kegan Paul.


344 Nemeth, T. (1980). Gramsci’s Philosophy A Critical Study. Sussex: Harvester Press. Pozzolini, A. (1970). Antonio Gramsci An Introduction to his thought. Sassoon, A.S. (trans.) London: Pluto Press. Sassoon, A.S. (1982a). Approaches to Gramsci. London: Writers and Readers. Sassoon, A.S. (1982b). “Passive Revolution and the Politics of Reform” in Sassoon, A.S. (ed.). Approaches to Gramsci. London: Writers and Readers. Sassoon, A.S. (1987). Gramsci’s Politics. 2nd ed. London: Hutchinson. San Juan, E. (2009). Critique and Social Transformation Lessons From Antonio Gramsci, Mikhail Bakhtin, And Raymond Williams. New York: The Edwin Mellen Press. Schecter, D. (2007). The History of the Left From Marx to the Present. London: Continuum. Simon, R. (1999). Gramsci’s Political Thought An Introduction. (e-book). London: The Electric Book Company.


Turn static files into dynamic content formats.

Create a flipbook
Issuu converts static files into: digital portfolios, online yearbooks, online catalogs, digital photo albums and more. Sign up and create your flipbook.